เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “ความบางคำในหนังสือของ​ กนง. กับชีวิตประจำวันของคนเดินดินกินข้าวแกง” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563

ความบางคำในหนังสือของ​ กนง. กับชีวิตประจำวันของคนเดินดินกินข้าวแกง

เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีหน้าที่หลักดูแลงานด้านเสถียรภาพกับความมั่นคงแข็งแรงในระบบเศรษฐกิจผ่านกลไกในนโยบายการเงินซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว​ ต่างจากนโยบายภาครัฐที่มาจากฟากฝั่งการเมืองที่มีแรงกดดันให้ต้องดำเนินนโยบายที่เห็นผลเร็ว​ ระยะสั้น​ และต้องตอบสนองต่อความต้องการของมวลชนให้เกิดความชื่นชอบ​ ความขัดแย้งในเชิงความคิดทางนโยบาย​ ความเห็นที่ต้องตรงกันในการดำเนินนโยบายจึงเป็นศิลปะโดยแท้ของการสื่อสาร​ การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันและกัน​ ของทีมงาน​ ของผู้นำองค์กร​ที่ต่างต้องรับผิดชอบกับ​ legal mandated ที่ได้รับมา​

หนังสือเปิดผนึกที่มีความโปร่งใสในสิ่งที่คิด​ว่ามันเป็น สิ่งที่คิดจะทำ​และสิ่งที่คาดว่าจะเกิด​ ระหว่าง กนง. กับเจ้ากระทรวง​ที่หลายปีก่อนในอดีตเป็นเรื่องลับ​ หากแต่ในรัฐบาลชุดก่อนได้กำหนดให้เปิดเผยต่อสาธารณะ​ หนังสือที่สื่อสารระหว่างหน่วยงานแต่สาธารณะได้รับรู้จะนำไปสู่การตีความ​ วิเคราะห์​ คาดหมาย​ และความคาดหวัง​ แล้วแต่มุมมองของคนที่จะนำไปคิดไปใช้งานต่อ​

หนังสือในเวลาปัจจุบัน​มีสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องก็เป็นผลมาจาก
(1) พัฒนาการทางเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าได้มากขึ้นภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้ปรับลดลงจากในอดีต
(2)การขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าและบริการต่ำลง รวมถึงเกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้น ทำให้อำนาจในการตั้งราคาสินค้าของผู้ประกอบการลดลง
(3)​การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการในภาพรวมปรับลดลงเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีรายได้หลังสูตรเกษียณลดลง ขณะที่ประชากรวัยทำงานจะมีแนวโน้มออมเงินมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉลี่ยปรับลดลง

สิ่งเหล่านี้ข้างต้นได้เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆทั่วโลกและเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก รวมถึงเงินเฟ้อในประเทศไทยมีแนวโน้มต่ำลงจากในอดีตด้วย​ ในระยะข้างหน้า กนง. ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 อยู่ที่ 0.8% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน และในหนังสือยังระบุต่อไปตามข่าวสารที่เสนอออกมาอีกว่า​ยังคงมีแรงกดดันจากราคาพลังงานที่อิงกับการค่อยๆฟื้นตัวของเศรษฐกิจ​ และบางครั้งก็อาจมีความผันผวนจากความไม่ลงตัว​ การมีข้อพิพาทในตะวันออกกลาง

การที่อัตราเงินเฟ้อที่ถูกประมาณการต่ำกว่าขอบล่างของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย​ การดำเนินนโยบายก็ต้องสอดคล้องกันคือน่าจะไปในทิศทางผ่อนคลายมากกว่าเข้มงวด​ หากแต่ว่ามันยังมีประเด็นแทรกซ้อนเข้ามาก่อนที่หนังสือนี้จะถูกสื่อสารออกมาคือ
1.การเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าศักยภาพ​ ได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยว​ อันมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพัน​ธุ์ใหม่​ มีผลกระทบจากการส่งออก​ มีเรื่องบาทแข็งบาทอ่อน​ มีเรื่องภัยแล้ง​ สุดท้ายงบประมาณออกมาล่าช้าเพราะนิสัยถาวรของนักการเมืองบางคนบางประเภทที่ถูกนักการเมืองอาวุโสระบุว่าเป็นตัวกาลกิณี​ เรียกได้ว่าเริ่มต้นปีหนูอย่างสาหัสพอประมาณ
2.ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ใต้พรมอาจจะเรียกว่า​ หงส์​ดำ​ หรือ​ แรดขาว​ ซ่อนอยู่ในเรื่องของหนี้ครัวเรือน​ ระบบสถาบันการเงินประเภทหนึ่งที่มิได้ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้นแต่เติบโตจนมาถึงระดับ​ 2ล้านล้านบาท​ มีผู้คนที่ติดกับดักในการก่อหนี้จนรายได้ถูกตัดยอดไปชำระหนี้จนสุดท้ายเงินที่เหลืออยู่หลังหักการชำระหนี้ที่เรียกว่า​ Residual income บางกลุ่มรายได้​ ยากที่จะดำรงชีพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคม​ ภาวะหนี้เสียที่จะพุ่งทะลุเหมือนภูเขาไฟแห่งหนี้กำลังปะทุในมุมใดมุมหนึ่ง​ คุกรุ่นอยู่ภายใน​ เป็นเหมือนสิ่งที่กำลังรอคอยเวลาว่าจะเป็นเมื่อไหร่​ ถ้าผู้เขียนจะเทียบมันคือสิ่งที่อยู่ในกล่องแพนโดร่า​ ยามเมื่อถูกเปิดออกมาแล้ว​ ยากที่จะจัดการแก้ไขให้ยุติได้ง่ายๆ​ คามกังวลนี้ผู้เขียนคิดว่าอยู่ในหัวใจและความคิดของผู้คนที่รับผิดชอบเรื่องเสถียรภาพจำนวนไม่น้อยอย่างแน่นอน​ บางท่านเคยพูดคุยกับผู้เขียนได้พูดว่า​
… อย่าเพิ่งมาปะทุก่อนที่ผมจะเกษียณนะ
….ผมกำลังจะครบวาระ​ อย่าเพิ่งเกิดเลย
… มันจะมาตอนที่ผมจะเข้ารับตำแหน่งไหม
… ผมพ้นภัยแล้วเพราะไม่มีตำแหน่งแล้วในเวลานี้ที่ต้องมารับเรื่องนี้
… และอื่นๆอีกมากมาย

กลับมาที่หนังสือสื่อสารเปิดผนึกได้ระบุตามข่าวที่เผยแพร่ว่า… ปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด และต่ำกว่าระดับศักยภาพ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก การส่งออกที่หดตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศชะลอลง…

ท่านผู้อ่านครับ​ กินร้อน​ ช้อนกลาง​ ล้างมือ​ กินน้อย(เท่าที่จำเป็น)​ นอนให้พอ(อย่าเอาแต่เล่นไลน์​ เชื่อข่าวลือแพร่ข่าวปลอม​ ยุ่งเรื่องชาวบ้าน​ เสนอความเห็นทางการเมืองอย่างสุดโต่ง)​ ออกกำลังกาย(อย่างน้อย​ 30นาทีต่อวันให้เหงื่อออก​ โดยไม่ต้องกู้เงินมาซื้ออุปกรณ์​ เสื้อผ้าเพื่อออกกำลัง​ โดยเฉพาะรองเท้า)​ เชื่อว่าความไม่ประมาทและการเก็บออมจะทำให้เรารอดพ้นสภาพการณ์​นี้ไปได้
ขอบคุณครับ