เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “ตัวอย่างเล็กๆที่เป็นความจริงแต่มีการสื่อสารคลาดเคลื่อน” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

ตัวอย่างเล็กๆที่เป็นความจริงแต่มีการสื่อสารคลาดเคลื่อน​ 

ข้อเขียนวันนี้ผู้เขียนขอสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง​ จากผลกระทบของการแพร่ระบาด​ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์​ไวรัสโคโรนา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากแทบทุกสารทิศที่เคยเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว​ในย่านนี้ลดหายไปเป็นจำนวนมาก​

แน่นอนว่านักท่องเที่ยวชาวจีนคือแหล่งที่มาของรายได้จำนวนมหาศาลได้ลดลงชนิดที่เรียกว่าทำเอาสนามบินเงียบเหงา​ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง​ เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นโรงแรม​ ภัตตาคาร​ ร้านอาหาร​ แหล่งบันเทิง​ สถานที่ท่องเที่ยว​ ร้านขายของ  ท้ายที่สุด​คือธุรกิจการขนส่ง​ โดยผู้ประกอบการขนส่งโดยสารสาธารณะได้สะท้อนปัญหาผ่านหน่วยงานเพื่อขอให้หน่วยงานที่เคยเป็นผู้กำกับดูแลได้ปรับบทบาทมาเป็นผู้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา​ ผู้เขียนจึงขอยกเอาข่าวที่ผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวทางภาคใต้ เช่น​ ภูเก็ต​ ได้สะท้อนมาดังนี้

… ตั้งแต่วันที่​ 27 ม.ค. เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวชาวจีนหยุดเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้ในส่วนรถบัส-รถตู้ มีรายได้น้อยลงไปมากจริงๆ ไม่มีเงินหมุนเวียน มีแต่ติดลบ ตัวอย่างเช่น กู้มา 5 ล้านบาท ผ่อนชำระเดือนละแสนกว่าบาท​ เมื่อขาดรายได้  “ทำให้เกิดปัญหากับเครดิตบูโร”

ทางกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ คาดว่า นักท่องเที่ยวชาวจีน อาจกลับมา ในเดือนสิงหาคมนี้ถ้าทุกอย่างจบลงโดยเร็ว ในระหว่างช่วงเวลานี้อยากขอให้พิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งกระแสเงินหมุนเวียน ขอสนับสนุนสินเชื่อต่างๆ การยืดระยะเวลาจ่ายค่าประกันสังคมของนายจ้างลูกจ้าง  การทำประกันภัยรถยนต์​โดยขอลดเบี้ยประกันภัยรถ ในช่วงนี้ และถ้าภาครัฐเร่งแก้ปัญหาโดยกระตุ้นเศรษฐกิจในทางใดทางหนึ่งให้เดินหน้ากันต่อไปได้ในสภาวะที่ยังคงต้องเป็นแบบนี้ไปอีกสักพัก….

ผมสะดุดกับคำว่า​ “ทำให้เกิดปัญหาเครดิตบูโร” ซึ่งคำว่า​เครดิตบูโรมันเป็นคำนามที่ระบุชื่อหรือประเภทสถาบัน​ มันไม่ใช่คำที่บอกถึงลักษณะของปัญหา​ จริงแท้แล้วการที่มีรายได้ลด​มาก เงินเข้าลดแต่รายจ่ายส่วนที่ต้องจ่ายออกไม่ลดตาม​ จึงเป็นที่มาของ​ สภาพคล่องลด​ เงินที่จะเตรียมไปชำระหนี้ต้นและดอกเบี้ยที่เคยสัญญาไว้มันจะทำได้ยาก​ สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลคือ

1.จ่ายต้นและดอกเบี้ยตามค่างวดที่ต้องผ่อนส่งเงินกู้ไม่ได้

2.เจอเบี้ยปรับการชำระหนี้ล่าช้า​ ดอกเบี้ยปกติถูกปรับไปเป็นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

3.ประวัติผิดนัดชำระหนี้ก็จะเกิดและถูกสถาบันการเงินเจ้าหนี้ส่งข้อมูลตามความเป็นจริงนี้เข้าสู่ระบบมาที่สถาบันชื่อเครดิตบูโรตามที่กฎหมายกำหนด

4.ประวัตินี้จะหายไปเมื่อ

4.1มีการชำระหนี้ที่ค้างชำระเสร็จสิ้นและ

4.2ครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้จัดเก็บภายในเวลา 3ปี

5.ประวัตินี้จะส่งผลต่อการยื่นขอสินเชื่อในอนาคต​ เพราะมันได้แสดงถึงขีดความสามารถของตัวลูกหนี้ในการชำระหนี้​

 

มาถึงตรงนี้​ ผมจึงอยากขอเสนอความเห็น​ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ทางภาครัฐกำลังให้ความช่วยเหลือดังนี้นะครับ

(1)ผู้ประกอบการ​ที่รู้ว่าตัวเองมีผลกระทบให้รีบติดต่อเจ้าหนี้แล้วยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้​ ปรับตารางการชำระหนี้ใหม่​ ลดยอดที่ต้องส่งเงินงวดชำระหนี้ลงมา​ ถ้าเลวร้ายสุดอาจต้องขอแขวนต้นพักชำระหนี้แต่ขอจ่ายแต่ดอกเบี้ย​ในอัตราผ่อนปรนเพื่อรักษาสถานะว่า​ ยังคงเป็นหนี้ปกติ​ ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้

(2)การขอกู้ยืมเพิ่มเติมในเวลานี้จะค่อนข้างยาก​ ถึงยากมาก​ ดังนั้นต้องใช้ตัวช่วยคือการขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ​ บสย.ช่วยค้ำประกัน​ โดยเอาประวัติการชำระหนี้ที่ครบ​ ที่ตรงในอดีตมาเป็นข้อมูลยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนที่มีปัญหาแต่ประการใด

(3)ขออย่าเอาแต่เรียกร้องให้ใครมาช่วยอย่างเดียว​ ต้องช่วยตัวเองด้วย​ อะไรที่เราต้องทำ​ อย่าเกี่ยงว่าหลวงท่านต้องทำให้ก่อนสิ​ ทำอะไรได้ก่อนให้รีบทำ​ เมื่อทำหน้าที่บทบาท”นักร้อง” จบแล้วก็ต้องต่อด้วย​”นักปฏิบัติ” อย่าทำตัวเป็น”นักรอหรือนักบ่น” และสุดท้ายนะครับ​ อย่าทำตัวเป็น”นักเลง” ถ้าไม่ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ​ หรือได้แต่ได้ไม่หมดเท่าที่ตัวเองเสนอ​ เพราะในการทำธุรกิจหรือลงทุนทำธุรกิจในโลกของการค้าเสรีแบบทุนนิยมคือ​ การลงทุน(ทำธุรกิจ)​มีความเสี่ยง​ ผู้ลงทุน(คนทำธุรกิจ)​ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ​

Life is unfair… ขอบคุณครับ