เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “เมื่อพายุสามลูกมารวมกันและพัดผ่านระบบเศรษฐกิจของเรา” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562

เมื่อพายุ​สามลูกมารวมกันและพัดผ่านระบบเศรษฐกิจ​ของเรา

บทความวันนี้เกิดจากการที่ได้ไปรับรู้รับฟังมาจากนักวิชาการที่ทำงานติดดิน​ เดินทางทำวิจัย​ สอบถามผู้คน​ ไม่ใช่แบบ (1) นั่งอยู่ในรั้วในวังแล้วคิดเอาจากข้อมูลที่ไปบังคับให้คนเขาส่งมาให้​ หรือแบบประเภท (2) เอามือถูไถไปบนโทรศัพท์มือถือ​ หยิบเอารายงานที่นั่นหน่อย​ ที่นี่หน่อยมาผสมผสาน​กันแล้วก็ยกร่างขึ้นมาใหม่​ แล้วอ้างว่ามันไม่ต้องท่องไปในโลกความจริงหรอก​ เอาข้อมูลจากโลกเสมือนจริงมาเขียนก็ได้​ หรืออีกแบบ (3) ประเภทหนึ่งที่ผมต้องขอบอกว่ารังเกียจมากคือพวกอุปทาน​ตัวเองเป็น​ ผู้นำเครือข่าย​ กรรมการสมาพันธ์​ แล้วก็ต่อด้วยภาษาที่ใครก็ไม่เข้าใจ เช่น​ สุขภาวะวิถี-ชีวียั่งยืน-​ฟื้นฟูนิเวศ-เศรษฐกิจพิชิตมาร อะไรประมาณนี้​ จากนั้นก็จะสร้างเวทีเสวนากันโดยเอาเงินมาจากไหนก็ไม่รู้​ แล้วก็ผลัดกันเขียน​ เวียนกันอ่าน​ ผ่านกันชม​ ส่วนให้ก็ใช้วิธีการ​ Facebook live ในการสื่อสาร​ Agenda ที่ซ่อนเร้นที่ตนเองตั้งใจจะบอก​เพื่อหลอกด่าภาครัฐ​ หรือองค์กร​ที่ตนเองไ​ม่ชอบ​ หรือตนเองเคยเป็นกรรมการแต่ผิดหวังเพราะทำอะไรก็ไม่สำเร็จเลยต้องออกมา (แต่อ้างความชอบธรรมจากชื่อวิทยากร)​ จะชอบไม่ชอบก็ขอเรียนว่าเป็นมุมมองของผู้เขียนนะครับ

กลับมาถึงข้อมูลที่อยากจะเรียนตามหัวข้อข้างต้น​ คือว่ามันมีประเด็นสำคัญสัก​ 3 ประการที่ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแก่ระบบเศรษฐกิจสังคมในแทบทุกประเทศ​ ทุกอุตสาหกรรม​ สิ่งที่ว่านั้นคือ​
1. การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี เราจะเห็นได้ว่านับแต่ระบบคอมพิวเตอร์เรานั้นประมวลผล​ได้เร็วขึ้นมากๆจากในอดีต​ มีหน่วยความจำที่มากขึ้นกว่าในอดีต​ มันเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง​ ย้อนหลังลงไปไม่เกินยี่สิบปี​ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทำงานเราได้สร้างงานสร้างอาชีพมากมาย​ วันนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในมือของเรากลับมีประสิทธิภาพอาจจะมากกว่า​ Super computer ในอดีตมากมาย​ ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องมือตรงนี้มันสามารถจะสื่อสารกันได้เองแบบ​ machine to machine มันสามารถเรียนรู้ว่าหนทางที่ดีกว่าเดิมที่ถูกป้อนข้อมูลให้ทำตอนแรกนั้นคืออะไร​ มันสามารถประมวลผล​ข้อมูลในหลากหลายรูปแบบทั้งที่มีรูปแบบชัดเจนกับข้อมูลที่ไร้รูปแบบที่ระบบปฏิบัติการ​ ระบบประมวลผล​แบบดั้งเดิมนั้นทำไม่ได้​ เช่น เอาข้อมูล​ Location มาผสมกับข้อมูลภาพ​ เสียง​ หรือรายการธุรกรรมแล้วออกมาเป็นความลับในสิ่งอันเป็นพฤติกรรมของผู้คน​ เพื่อการวางแผนงานทางธุรกิจ​ เป็นต้น​ สิ่งนี้ทำให้ธุรกิจต้องปรับปรุงคน​ งาน​ เงิน​ และเครื่องมือไปตอบโจทย์​ความต้องการของลูกค้าที่อะไรๆก็ต้องการเดี๋ยวนี้​ เวลานี้​ อยากได้​ ต้องได้​ ตัวอย่าง เช่น​ สี่ทุ่มครึ่งอยากกินผัดไทยห่อไข่​ ไม่ต้องออกจากบ้าน​ สั่งของกิน​ จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินในโทรศัพท์​ อีกไม่กี่นาที​ ก็มีคนทำหน้าที่ส่งของ​ ส่งอาหารที่เราสั่งตอบโจทย์​ความขี้เกียจ​ของตัวผู้บริโภค​ ธุรกิจแบบที่ตัวกลางหายไป​ หรือมีระบบกลางมาดูแล​ มันทำให้คนที่ไม่ปรับตัวต้องล้มหายตายจาก​ สังเกตนะครับคนที่ออกมาร้องให้รัฐเอาภาษีมาอุ้ม​ ต้องมีเงินกู้ดอกเบี้ยถูกมาอุ้ม​ แต่ตัวเองจะอยู่แบบเดิมๆ​ มันแฟร์กับคนเสียภาษีหรือไม่

2. การรบกันของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งที่เป็นสงครามจริง​ ฆ่ากันจริง​ แต่ผ่านประเทศตัวแทน​ การมีความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้นในหลายภูมิภาค​ หรือการก่อสงครามการค้าระหว่างกัน​ ขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมา​ เจรจาแล้วก็ล้ม​ แล้วก็เลื่อน​ หุ้นก็สามวันดีสี่วันลบ​ ผันผวนกันไปหมด​ การผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกแบบแบ่งงานกันทำมันก็กระทบไปหมด​ ของก็เดี๋ยวถูกเดี๋ยวแพง​ ผมลองคิดเล่นๆนะครับ​ มีช้างสามตัวลงมาเล่นน้ำ​ ทะเลาะกันในบ่อเล็ก​ ตัวที่หนึ่งกับตัวที่สองชอบตีกัน​ เอางาทิ่มกัน​ ตัวที่สองกับตัวที่สามไม่ทะเลาะกันแบบตีกันแต่ชอบเอาเท้ากระทืบน้ำให้มันกระเด็นใส่กันหรือพ่นน้ำใส่กันแบบแรงๆ​ แต่ตัวที่หนึ่งกับตัวที่สามกลับมีใจให้กันแอบสบตากันบ่อยๆ​ คือรักระหว่างสมรภูมิ​รบ​ ถ้าประเทศเราคือปลาสลิดในบ่อ​ ประเทศญี่ปุ่นคือปลาพะยูนในบ่อ​ มันจะวุ่นวาย​ เวียนหัว​ เมาคลื่นลมในบ่อกันประมาณไหน​ ไม่ต้องพูดถึงว่าต้องหลบงาที่ทิ่มใส่กัน​ ขืนพลาดก็เลือดตกยากออก​

3. ผู้คนในประเทศเรามีคนสูงวัยมากขึ้น​ คนที่มีอายุเกิน​ 60 ปีมีกี่%ของประชากรทั้งหมด​ คนที่มีอายุเกิน​ 65 ปี มีกี่%ของประชากรทั้งหมด​ อัตราการเกิดของเด็กลดลง​ คหนุ่มสาวกำลังมีสัดส่วนมากขึ้น​ เขาเหล่านั้นบ้างก็เคยได้รับผลกระทบจากวิกฤติ​ในปี​ 2540 บ้างก็เจอกับวิกฤติ​ปี​ 2551 แต่ถ้าเป็น​ Gen Z เขาแทบไม่รู้จัก​ คนรุ่นเก่าก็เอาแต่พยายามจะยึดโลกใบเก่าให้อยู่ในยุคตัวเอง​ หวงกับอำนาจเอาไว้​ ชอบใช้วาทกรรมว่า​ “ในสมัยผมนะ… เราจะทำแบบนี้”  หรือ​ “ผมอาบน้ำร้อนมากกว่าคุณกินข้าว” ในขณะที่ไม่พยายามเตรียมคนรุ่นถัดไปให้สู้กับ
ปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร
เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิด
เครื่องมือที่ยังไม่ได้สร้าง

คำถามคือเมื่อถึงเวลาที่คนรุ่นเก่าหมดแรงและคนรุ่นใหม่ป้อแป้​ เอาแต่จะเป็นศิลปินนักร้อง​ เราจะเอาสรรพกำลังไหนไปขับเคลื่อนประเทศ​ คนหนุ่มสาวในประเทศจีนที่ผู้เขียนไปดูงานเขามีหลักการทำงาน​ 996 กล่าวคือทำงาน​ 9 โมงเช้า​ถึง​ 9 โมงกลางคืนหรือสามทุ่ม​ ทำงาน​ 6 วันต่อสัปดาห์​ ถ้าทำงานโครงการที่คิดสำเร็จจะได้ทุนเป็นล้านหยวนออกไปตั้งกิจการเป็น​ Start​ up แต่ในเวลานี้ของบ้านเราผู้นำวัยหนุ่มสาวก็ติดกับดักทะเลาะกับคนสูงวัย​ เหยียดกัน​ เฉี่ยวกัน​ ทุกวันบนหน้าหนังสือพิมพ์​ คนสูงวัยก็ไม่ทำตัวให้น่านับถือ​ คนเป็นเด็กก็ร้อนวิชาเกินเลย​ แบบว่าร้อนเป็นไฟละลายตรงเธอ​ มันจะอยู่ไม่เป็น​ หรืออยู่ให้เป็น​ หรืออยู่ให้สงบ​ หรืออยู่อย่างฉลาด​ หรืออยู่ไปวันๆ​ นั่งหายใจทิ้ง​ หรืออยู่แบบเปลืองข้าวสุก​ มันก็ล้วนเป็นคนไทยที่ต้องอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น​ ฮ่องกงเคยมองเราอย่างไร​ ตอนนี้เราก็มองฮ่องกงอย่างนั้น​

ทั้งสามพายุได้พัดผ่านเข้ามาในระบบเราแล้ว​ บางครั้งหอบเอา​ PM2.5 เข้ามาด้วย​ เราจะได้เห็นผู้รอดชีวิตจริง​ ผู้ที่ต้องล้มหายตายจากจริง​ คนที่หนีความจริง​ คนที่รับความจริง​ คนที่อยู่ได้หรือไม่ได้กับความจริงในปี​ 2563 ในอีกไม่นาน​

สติมา​ ปัญญาเกิด
สติเตลิด​ จะเกิดแต่ปัญหา
หยุดพูดและหันมาฟัง
เพราะการฟังคือการอ่านในสิ่งที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย​ เราแยกแยะได้​ แต่ถ้าเราเอาแต่พูดแล้วเราจะได้ยินได้อ่านอะไรที่มันจะมาเป็นทางออกของชีวิตล่ะ… ขอบคุณครับ