เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “มองหาสาระจากการประชุมรัฐสภาในเรื่องนโยบายรัฐ” วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2562

มองหาสาระจากการประชุมรัฐสภาในเรื่องนโยบายรัฐ

จากการที่ได้ติดตามข่าวสาร​ ร่วมรับฟังในบางช่วงของการอภิปรายของการประชุมรัฐสภาในเรื่องการแถลงนโยบายตลอดช่วง​ 2 วัน​ และหากเราตัดเอาเรื่องดราม่า​ หรือเรื่องที่หาสาระไม่ได้ในส่วนของถ้อยคำที่แซะ​ ที่กระแทกกันออกไปให้หมด​ แล้วทำใจร่มๆ​ คิดแบบผู้เจริญแล้ว​ คิดแบบคนที่มุ่งค้นหาแก่น​แบบไม่สนส่วนที่เป็นเปลือก​ เราจะเห็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหาของประเทศ​ เหตุที่ขับเคลื่อนให้ไปข้างหน้าได้ยาก​ และการที่คนในแต่ละระดับไม่ว่าจะมีเกณฑ์แบ่งอย่างไร​ มันก็ยากที่จะเท่าเทียมกันโดยเฉพาะการเข้าถึงทรัพยากร​ การเข้าถึงแหล่งทุน​ การเข้าถึงความเท่าเทียมเท่าทันของกฎหมาย​ เรื่องเด็ดๆ ที่ผมต้องหยิบปากกามาจดสาระเพื่อเอามาเขียนเป็นบทความในมุมของตัวเองมีดังนี้ครับ

1.การเขียนนโยบายเป็นไปในรูปของแนวคิดแนวทางที่คิดที่กำหนดว่าจะทำแต่จะมีความยืดหยุ่น​ ปรับเปลี่ยนได้ ไม่ตึงตัวตายตัวจนเกินไป​ ในมุมคนที่อยากจะไล่บี้​ ไล่ขุด​ ไล่วิจารณ์​ ไล่ด่า​ มันจึงทำได้ยาก​ เพราะจากชุดแนวนโยบาย​ มันจะนำไปสู่มาตรการที่จะทำ​ แผนงานที่จะทำ​ งบประมาณที่จะใช้​ เป้าหมายที่จะกำหนดเพื่อติดตามประเมินผลต่อไป

2.มีการพูดถึงการเขียนแนวนโยบายที่ไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน​ บางเรื่องเป็นเหตุที่ทำให้เกิด​ บางเรื่องเป็นผลที่ต้องแก้​ บางเรื่องเป็นกระบวนการที่ต้องปรับเปลี่ยนเช่น​ ปัญหาที่เกษตรกร​ขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง​ พอจะทำมาหากินก็มีต้นทุนค่าเช่ามารอ​ ปลูกก็ต้องรีบทำให้ได้ผลผลิตเร็วๆ เพื่อขายเอามาชำระหนี้​ ชำระหนี้ได้ยากก็เป็นหนี้นอกระบบ​ พอมาถึงจุดหนึ่งที่มันต้องอยู่ให้รอดแล้ว​ แม้ว่าจะต้องผิดกฎหมาย​ ต้องบุกรุกป่าก็ต้องทำ​ ไม่ทำก็อดตาย​ จำนวนเกษตรกรก็มีสามสิบล้านคนดังที่ท่านรองนายกว่าไว้​ แต่สร้างรายได้ประชาชาติได้เพียง​ 10% มันไม่มีทางจะพอกิน​ รายได้สามหมื่นบาทต่อปี​ สองพันบาทต่อเดือน​ มันอยู่ไม่ได้​ ถ้าไม่มีพวกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ​ กองทุนหมู่บ้าน​ 30 บาทรักษาทุกโรค​ เบี้ยยังชีพคนชรา​ คนด้อยโอกาส​ คนพิการ​ ก็ต้องมีเป็นฟองน้ำรองรับการล้มลงมาของคนในฐานราก​ เพราะเขาคือคนไทยด้วยกัน

3.มีการพูดถึง​ สมัยหลังวิกฤติ​ต้มยำกุ้ง​ ใช้เวลาหกปีในการซ่อม ไม่มีเวลาสร้าง​ รัฐบาลไม่ต่อเนื่อง​โครงสร้างพื้นฐานล้าสมัย​ พอจะเริ่มทำก็เจอน้ำท่วมใหญ่​ หายนะมากมาย​ รณรงค์​ปลูกยางทั่วประเทศแต่ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม​ จำนำข้าวแบบเริ่มต้นดีต่อมากลายเป็นทุจริต​ พอมีข้าวมากองในมือรัฐถึง​ 17 ล้านตันมันก็ไปทำลายกลไกตลาด​ ราคามันไม่ไป​ คนขายคนปลูกที่เล็งว่าจะมีรายได้ดันไปก่อหนี้แล้ว​ รายได้อนาคตไม่มา​ แต่หนี้ปัจจุบันมีดอก​ มันก็จบข่าว​ ครั้นต่อมาจะเริ่มขยับก็ทะเลาะกันทุกระดับ​ แตกแยกชนิดไม่เคยพบเห็น​ ทำลายกันและกัน​ ไม่มีใครอยากมาประเทศเรา​ ท่องเที่ยวก็จบ​ การลงทุนไม่มีมาเติม​ ชีพจรประเทศแผ่วมาก​ ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าจะหายใจด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว​ เมื่อมีคณะเข้ามาควบคุมอำนาจ​ ก็ทำอะไรได้ไม่มากเท่าที่คิดไว้​ เวลาหมดก็เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยผ่านตัวแทน​ แต่ก็เริ่มการกล่าวหาว่าปล้นอำนาจ​ โกงเข้ามา​ จุดนี้ผู้เขียนคิดว่า​ คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว​ ควรเคารพตัวเอง​บ้าง​ นึกจะพูดจะทำอะไร​ คิดถึงความเหมาะควร​

4.เราได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่ร้อนวิชามาร​ วิชาเทพ​ วิชาการ​ และวิชาเกิน​ มันจำลองมาให้เห็นเลยว่าจะดีจะชั่วมันไม่ได้อยู่ที่อายุมาก​ อายุน้อยเลยทีเดียว​ ในหมู่คนดีๆมีคนแย่ๆ​ ในหมู่คนที่เราคิดว่าเป็นคณะที่คิดในทางซ้ายแบบสาธารณรัฐ (Republic)​ ก็มีคนที่คิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข​ คนรุ่นใหม่ที่ให้แนวคิด​ แนวทาง​ ข้อเสนอในการปรับแต่งแนวนโยบายเพื่อที่ตอนที่ตอนลงไปทำมาตรการ​ โครงการ​ มันจะได้สอดคล้องต้องกัน​ คนอายุน้อยพูดได้น่าคิด​ คนอายุมากที่เป็นรัฐมนตรีก็กล่าวขอบคุณและรับจะนำไปคิดไปทำต่อ​ หากเป็นแบบนี้เชื่อว่าชาติเดินหน้าได้แน่นอน

  1. สุดท้ายเราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าความวุ่นวายปั่นป่วนในการประชุมที่ดูได้ว่าเจตนาจะให้เกิดการเผชิญหน้า​ ได้เห็นการประท้วงที่ไม่มีสาระ​ ได้เห็นการใช้ความเก๋า​ ความแม่นในตัวบท​ เอามากำกับพฤติรรมของคนที่พยายามหรือแม้ไม่พยายามแต่ก็ไมให้ความร่วมมือ​ ให้คนเหล่านั้นเกิดความสงบเรียบร้อย​ อันนี้ต้องขอชื่นชมท่านอดีตนายกชวน​ ที่เป็นครูใหญ่ในการประชุมได้เด็ดขาดทีเดียว

ประเทศยังมีความท้าทายอีกมากมาย​ สงครามการค้ายังไม่จบ​ การปกครองและดุลยอำนาจเปลี่ยน​ วัฒนธรรม​ ความคิด​ ความเห็นเปลี่ยน​ วิธีการค้า​ การซื้อ​ การขายเปลี่ยนไป​ สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ​ ทุกคนที่มีส่วนจะต้องโดนคือภาษีและการปฏิบัติตนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด​ ท้ายที่สุดคือเราทุกคนล้วนต้องตาย​ ไม่มีใครเอาอะไรไปได้สักอย่างเดียว

ขอบคุณครับ