เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “ทบทวนข้อจำกัดในอดีตแล้วมองไปข้างหน้าของการเข้าถึงสินเชื่อ” วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2562

ทบทวนข้อจำกัดในอดีตแล้วมองไปข้างหน้าของการเข้าถึงสินเชื่อ

บทความของผู้เขียนในวันนี้มีภาพประกอบจากเอกสารงานวิชาการของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ​กสิกรไทยที่ได้เคยนำเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปีธนาคารแห่งประเทศไทยปี​ 2557 ผมได้ไปเจอเอกสารนี้อีกครั้งด้วยเหตุสองประการ​ ประการแรก​ คือต้องย้ายสถานที่ทำงานทำเลใหม่ประการที่สองได้มีคำถามจากผู้คนในแวดวงสถาบันการส่งเสริม​ สนับสนุน​ SME ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น​

ต้องขอเรียนว่าหัวข้อพวกนี้เรื่องการกู้ไม่ได้​ คนให้กู้ไม่รู้จักคนขอกู้​ มีข้อมูลน้อยเกินไป​ ข้อมูลไม่ชัวร์​ ฟากฝั่งคนขอกู้ก็มองว่าสถาบันการเงินไม่ฉลาด​ หาลูกค้าไม่เป็น​ ดีๆอยู่ตรงนี้ไม่เอา​ พยายามไปหาไอ้ที่จะกลายเป็นหนี้เสีย​ จนมีคำพูดประชดประชันว่า​

“ธนาคารคือสถาบันการเงินคนให้กู้ที่พยายามยัดเยียดเงินกู้ให้กับคนที่ไม่ต้องการ(คงหมายถึงรายใหญ่ๆ)​แต่จะปฏิเสธการขอกู้จากคนที่เขามีความต้องการเงินกู้(คงหมายถึงรายเล็กๆ​ SME​)” คำถามคือทำไมมันเป็นอย่างนั้น​ ผมลองเอาข้อมูลปี 2557 มานำเสนอนะครับ​ ขอท่านผู้อ่านดูรูปแล้วพิจารณาประกอบกันไป​

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า​ ปัจจัยสำคัญคือสิ่งที่อยู่ด้านซ้ายของภาพที่ระบุว่า​

1.การแข่งขันไม่เพียงพอหรือไม่

2.ลูกค้าคนขอสินเชื่อได้รับเงื่อนไขที่ดีหรือยัง​ หากเราพิจารณาสองข้อนี้ในปัจจุบันจะเห็นว่ามันน่าจะเป็นประเด็นได้​ ในระบบเรายังขาดผู้เล่นพวก​ Non​ bank, Fintech,​ TechFin, Platform ที่จะเข้ามาแข่งขันการให้สินเชื่อ​กับคนตัวเล็กหรือ​ SME​ ทุกวันนี้ก็เอาสินเชื่อเพื่อการบริโภคแบบดอกเบี้ยแพงมาหมุน​ เรื่องของ​ P2P Lending ก็ไม่เห็นเด่นชัดว่าจะไปได้ดี​ ในต่างประเทศเขาอนุญาตให้สถาบันตัวกลางเหล่านี้ส่งข้อมูลเข้าเครดิตบูโรและสามารถใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโร​ ใช้​ Credit​ Score มาช่วยในการให้สินเชื่อ​ และกระบวนการสินเชื่อจะเป็นแบบ​ Digital​ Lending

เรื่องต่อมาคือปัจจัยด้านขวาของรูปในประเด็นการสร้างกติกาให้เกิดความสมดุลในการตั้งสำรองหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ​ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า​ SME ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและต้องการการผ่อนผันกฎเกณฑ์ที่เห็นได้ว่าเข้มงวดเกินไปในขณะนี้​ จนส่งผลให้สถาบันการเงินไม่มีทางเลือกที่ต้องดำเนินการไปตามทิศทางนั้นเช่น​ การที่ไปกำหนดเกณฑ์ว่าหากสัญญาเงินกู้กำหนดให้มีการชำระต้นเงินและดอกเบี้ย เช่น​ การผ่อนบ้าน​ การผ่อนรถยนต์​ การผ่อนสินเชื่อธุรกิจ ที่จะมีการกำหนดต้นและดอกไว้ในเงินงวด​ ซึ่งหากลูกค้าประสบปัญหาบางช่วงที่จะสามารถจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย​แล้ว​ กฏได้ระบุว่าต้องจัดชั้นสินเชื่อรายนั้น​ ผลคือธนาคารก็ต้องสำรองเพิ่ม​ทันที​ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง​ หากธนาคารไม่ต้องการกันสำรองรายการนั้น​ ธนาคารก็จะให้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้​ อาจด้วยการปรับตารางการชำระหนี้​ หรือพักชำระหนี้ช่วงเวลาสั้นๆ​

แต่พอลูกค้าต้องปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ​ และไม่ใช่เป็นปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง​ แต่เป็นการขาดสภาพคล่องชั่วคราว เช่น​ ลูกหนี้การค้าชำระหนี้ล่าช้า เป็นต้น​ กลับเป็นว่าเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้​ ผู้ที่กำกับดูแลก็อาจจะถือเอาว่าเป็นลูกค้ากลุ่มอ่อนแอ​ หากใครจะให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อแก้ไขการขาดสภาพคล่องชั่วคราว​ ก็จะถูกสั่งสำรองเพิ่ม​ ซึ่งก็ทำให้ธนาคารไม่อยากให้สินเชื่อกลุ่มนี้​ และกลายเป็นต้องให้ลูกค้ากลุ่มนี้รอดูใจ​ รอดูการชำระหนี้เดิมออกไป​ 12-24 เดือน จึงจะพิจารณาสินเชื่อใหม่​ ข้อเท็จจริงนี้หากคลาดเคลื่อนไปก็ขอให้ท่านผู้รู้หรือบรรดากูรู​ กูรู้ทั้งหลายทั้งปวงได้โปรดออกมาชี้แจงแถลงไขด้วยนะครับ

การกำหนดกติกาป้องกันและบริหารความเสี่ยงโดยคนที่ไม่เคยปล่อยสินเชื่อ​ เคยแต่วิจารณ์​หลังการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว​ มันเหมือนคนเชียร์มวยข้างเวที​ ตัวเองไม่ได้ชกแต่ไปคิดว่าเพื่อให้ไม่เจ็บต้องหลบหลีกแบบนี้​ เวลามองก็เห็นแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า​ ไม่เห็นด้านหลัง​ และถ้ายิ่งมีความคิดว่าเพื่อให้งานของตัวเองไม่เสี่ยง​ ไม่เสี่ยงที่จะถูกตั้งประเด็น​ ก็เลยจัดเต็ม​ ทั้งที่มันไม่ควรจะไปไกลขนาดนั้นไหม ในภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเกื้อหนุน​ เกื้อกูลกัน​ อยากเห็นปัญหาว่า​ สินเชื่อ​ SME ปล่อยง่ายเกินไป​ มีแหล่งเงินกู้เพียบ​ แข่งขันจนดอกที่จะคิดเตี้ยติดดิน​ แทบไม่มีกำไร​ เจ้หน้าที่ที่ดูแลลูกค้าแทบจะกราบกรานให้​ SME มาใช้บริการ​ ภาพพวกนี้เราคงจะไม่เห็น​ ไม่มีโอกาสเห็น​ และแทบจะไม่เห็น​ ถ้าเราเป็นคนในยุคเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการส่งเอกสารคือ​ Fax ขณะที่มีความคิดในยุคนั้นเรากลับมาพยายามเอาเทคโนโลยีระดับนั้น​ ที่ดีที่สุดในอดีตเวลานั้นมากำกับดูแลในยุคนี้​ ยุคที่การส่งเอกสารคือใช้​ Line Application อาการแบบนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าจะหลุดออกมาได้อย่างไรนอกจากเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด​

คล้ายๆกับว่าคนขอกู้เข้าห้องฉุกเฉิน (ER)​และคนที่พิจารณาเงินให้กู้​ คนกำกับดูแลก็เข้าโครงการ​ ER ด้วยเช่นกัน…. ขอบคุณครับที่ติดตาม