คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : แวดวงธุรกิจการเงิน กับยอดคลื่นสึนามิดิจิทัล : วันจันทร์ 29 มกราคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

แวดวงธุรกิจการเงิน กับยอดคลื่นสึนามิดิจิทัล

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ 29 มกราคม 2561

มีสองข่าวใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนแม้เป็นเพียงการประกาศวิสัยทัศน์ แนวทาง หรือแผนงานที่กำลังดำเนินไปในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 11 เดือนก็จะหมดไป สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่เหนือการคาดเดา เพียงแต่ผู้คนในธุรกิจการเงินอาจจะยังทำใจไม่ได้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการเห็นชายหาดอยู่ดีๆ น้ำก็หายไปเป็นทางยาว

พอดีมีคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้านส่องกล้องแล้วมองเห็นยอดคลื่นยักษ์สีขาวกำลังพุ่งเข้าใส่ฝั่ง ขนาดของคลื่นก็ประมาณยอดต้นมะพร้าว แน่นอนในความคิดของคนที่เป็นผู้นำ ต้องตัดสินใจจากภาพที่ตนเองเห็น เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องพาผู้คนและองค์กรไปให้รอดปลอดภัย เรามาลองฟัง 2 CEO และธนาคารกลางดังนี้

(1) ท่านแรกเปิดเผยว่า ธนาคารกำลังพิจารณาให้มีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (ER) เพื่อปรับลดพนักงานให้ได้ประมาณ 1,000 คนภายใน 3 ปีตามเป้าหมาย ทั้งที่ประกาศเพิ่มสาขาธนาคาร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารทั้งระบบเพิ่มจำนวนการปิดสาขา เพื่อเป้าหมายลดต้นทุนและรับมือโลกยุคดิจิทัล แม้ว่าแต่ละปีจะมีพนักงานลาออกประมาณ 200-300 คน และแน่นอนพนักงานที่เหลือก็คงจะโยกย้ายมาทำหน้าที่ขายทุกรูปแบบ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต กองทุนรวม สลากออมทรัพย์ ประกันชีวิต สินเชื่อที่อยู่อาศัย

(2)”Going Upside Down”เป็นคำที่น่าสนใจมาก ภายใต้ สถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจธนาคารและการรุกเข้ามาของแพลตฟอร์ม เช่น พวก e-Commerce เช่น อาลีบาบา เป็นต้น

ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ จนกระทบกับการให้บริการทางการเงินของธนาคารในปัจจุบัน ถึงขนาดที่ว่าบริการในปัจจุบันจะแข่งไม่ได้เอา “ในปี 2561 เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง มิใช่เพียงให้อยู่รอดได้เท่านั้น แต่เพื่อให้ธนาคารเป็นที่รักของลูกค้า และลูกค้าอยากมาใช้บริการของเรา

ธนาคารจึงต้องการที่จะเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อทุกสังคมเข้าด้วยกัน ภายใต้กลยุทธ์ “Going Upside Down” (กลับหัวตีลังกา) ที่มีแนวทางในการดำเนินงานที่สำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.Lean the Bank (เพิ่มประสิทธิภาพธนาคาร) 2.High Margin Lending (ปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง) 3.Digital Acquisition (การดำเนินธุรกิจในโลกดิจิทัล) 4.Data Capabilities (เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ข้อมูล) 5.New Business Model (ธุรกิจรูปแบบใหม่) โดยรายได้หลักของธนาคารจะยังคงมาจากธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่อการบริโภค และการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)

(3) ด้านธนาคารกลางก็เปิดเผยว่า แนวโน้มการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์มีเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินทั้งในประเทศไทยและ ต่างประเทศ สถาบันการเงิน พนักงาน และประชาชนจึงต้องเข้าใจ และปรับตัวเองให้ทันกับสถานการณ์

“…ดิจิทัลแบงก์กิ้งเป็นรูปแบบการให้บริการใหม่ของธนาคาร ที่จะตอบโจทย์ให้ลูกค้าคนรับบริการมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงค่าธรรมเนียมในการใช้บริการก็ควรจะต้องถูกลงตามต้นทุนของสถาบันการเงินด้วย…”

ไม่ใช่แต่การสูญเสียงานของพนักงานเท่านั้น แต่ธนาคารแต่ละแห่งก็มีการสูญเสียมือดี มีการโยกย้ายคนเก่งจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง จะเห็นว่าคนที่เก่งจะนำเอาเทคโนโลยีมาร่วมใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกด้านคือคนเก่งที่ดูแลสาขาเพื่อบริการลูกค้า รายย่อยก็จะมีค่าตัวเพิ่มมากขึ้น

ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ คนในธุรกิจการเงินในยามเห็นยอด คลื่นสึนามิดิจิทัลอยู่ไกลๆ จึงต้องมอง ตัวเองให้ออกดีกว่ามาตีอกชกลมตัวเอง