คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “ระยะเวลาและรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในเครดิตบูโร” : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563

ระยะเวลาและรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในเครดิตบูโร 
นบทความนี้ผมใคร่ขอนำเสนอข้อมูลแก่ท่านผู้อ่านเรื่อง ระยะเวลาและรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในเครดิตบูโร ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของท่านที่มีบัญชีสินเชื่อไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะมีความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากในหลายเรื่องดังต่อไปนี้  
ความเชื่อที่ผิด : หากเมื่อไหร่ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้วชื่อของเราจะเข้าไปอยู่ในเครดิตบูโร 
สิ่งที่ถูกต้อง : ไม่ว่าจะเป็นการชำระตรงตามเวลา หรือมีการผิดนัดชำระ สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลตามจริงที่เกิดขึ้นเข้ามาให้กับเครดิตบูโร การส่งข้อมูลตามจริงของสมาชิกจะเป็นการส่งข้อมูลรายเดือน ส่งข้อมูลเดือนละหนึ่งครั้ง  
ความเชื่อที่ผิด : ข้อมูลเดือนใหม่ล่าสุดจะเข้าไปทับข้อมูลเดือนที่ผ่านมาก่อนหน้า เช่น ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์จะไปทับข้อมูลเดือนมกราคม ดังนั้นถ้าเราค้างชำระเดือนมกราคม หากไปจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ ข้อมูลจะไปทับของเดิม จะไม่มีใครเห็นข้อมูลเดือนมกราคมอีกต่อไป  
สิ่งที่ถูกต้อง : ข้อมูลเดือนใหม่ล่าสุดจะไม่เข้าไปทับข้อมูลเดือนที่ผ่านมาก่อนหน้า เช่น ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์จะไม่ไปทับข้อมูลเดือนมกราคม ดังนั้น ถ้าเราค้างชำระเดือนมกราคม หากไปจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ ข้อมูลจะมีสองบรรทัด คือ บรรทัดที่อยู่ด้านล่างหรือบรรทัดที่หนึ่งจะเป็นข้อมูลเดือนมกราคมที่มีข้อมูลปรากฏว่า ค้างชำระ ข้อมูลบรรทัดบนหรือบรรทัดที่สองจะเป็นข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ที่มีข้อมูลปรากฏว่า ไม่ค้างชำระ คนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อจะเห็นข้อมูลเป็นประวัติคือเห็นทั้งสองบรรทัด สองเดือนทั้งที่ค้างชำระและไม่ค้างชำระ เขาจะอ่านข้อมูลได้ว่าเจ้าของข้อมูลรายนี้ค้างชำระเดือนมกราคม ต่อมาได้มาจ่ายเดือนกุมภาพันธ์เขาจะถามต่อว่าเหตุที่ทำให้ค้างในเดือนมกราคมนั้นคืออะไร มาจากสาเหตุอะไร  
ตามกฎหมายที่กำหนดในเวลานี้กำหนดว่า สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลระยะเวลาจัดเก็บไม่เกิน 3 ปี นับแต่ข้อมูลนั้นสมาชิกได้ส่งเข้ามาให้กับเครดิตบูโร เช่น สถาบันการเงินส่งข้อมูลเข้ามา 30 มกราคม 2563 ข้อมูลบรรทัดนี้จะออกจากฐานในวันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้น 
คำถามคือทำไมต้องเก็บข้อมูลเป็นรายเดือน ไม่ทับกัน เก็บต่อเนื่องเป็นขนมชั้น 36 ชั้นหรือ 36เดือน หรือ 3 ปี เหตุผลที่เก็บเพื่อให้คนที่วิเคราะห์สินเชื่อเห็นข้อมูลในช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่เกิน 3 ปี เขาก็จะวิเคราะห์ได้ว่าคนนี้มีพฤติกรรม นิสัยใจคอ ในการชำระหนี้อย่างไร จ่ายครบจ่ายตรงใช่ไหม มีการค้างชำระหรือไม่เดือนไหน เกิดการค้างชำระนานแล้วหรือเพิ่งเกิดขึ้น เกิดบ่อยหรือไม่หรือเกิดเพียงครั้งเดียว พอมีการค้างชำระแล้วเดือนต่อมามีการนำเงินมาจ่ายจนทำให้เป็นปกติหรือไม่ ท้ายสุดคือ เพื่อตั้งคำถามกับเจ้าของข้อมูลว่าเพราะอะไรถึงได้เกิดการค้างชำระ จุดนี้เขาเรียกว่า การวิเคราะห์ความตั้งใจในการชำระหนี้หรือ Willingness to pay analysis นั่นเอง ข้อวิเคราะห์นี้จะนำไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้หรือ Ability to pay analysis และข้อมูลเรื่องหลักประกัน
สำหรับมาตรฐานสากลในการเก็บข้อมูลในเครดิตบูโรนั้นคือเครดิตบูโรเก็บข้อมูลที่ได้รับจากสมาชิกสถาบันการเงิน 3 ปีขึ้นไปหรือขั้นต่ำควรเก็บข้อมูลไว้ 3 ปี ธนาคารโลกจะมีการสำรวจและจัดทำเป็นรายงานเผยแพร่ทั่วโลกว่าในจำนวน 190 กว่าประเทศมีประเทศใดเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลาเท่าใด….เอธิโอเปียประเทศที่ยากจน ด้อยพัฒนาเขาเก็บข้อมูล 5 ปี ประเทศไทยเราได้ตัดสินใจในอดีตแล้วว่าเก็บไม่เกิน 3 ปี ครับ