คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : แสงสว่างปลายอุโมงค์ ของคนติดกับดักหนี้สิน : วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

แสงสว่างปลายอุโมงค์ ของคนติดกับดักหนี้สิน

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

การเป็นผู้คนในสังคมไทยในช่วงเวลาที่กำลังมีการหาเสียงเลือกตั้ง ต้องบอกตรงๆ ว่าทำตัวได้ยากมากๆ เช่น เวลาพบกับผู้คนทั้งไทยและต่างชาติแล้วมีกิริยาโต้ตอบจะถูกตีความว่า ถ้ายิ้มก็หาว่า… ไม่มีจุดยืน, ไม่รู้เรื่อง ถ้าเฉยๆ ก็หาว่า… ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ถ้าหัวเราะก็หาว่า… กลบเกลื่อนความไม่รู้ ถ้าพยักหน้าก็หาว่า… รู้แต่รับคำไม่รับทำ ถ้าส่งสติ๊กเกอร์… ต้องการจบการสนทนา ถ้าส่ง 555…คืออะไรก็ได้ เอาไว้ต่อท้าย

กลับมาที่คนติดกับดักหนี้ มันเริ่มจากหลังทำงานหลังจบการศึกษา ก็ต้องมีบัตรเครดิตเอาไว้ใช้จ่าย ผมจึงเห็นตัวเลขว่าบัตรที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นคนเจนวาย วงเงินประมาณ 5 หมื่น-1 แสนบาท จากนั้นมาดูหนี้บ้านก็พบว่าคนเจนวายเป็นผู้ได้สินเชื่อบ้านที่หมายถึงคอนโดเป็นจำนวนมาก รถยนต์ก็เช่นกัน อาการเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้มาก หนี้ไม่ลดตามเวลา และเริ่มจ่ายไม่ได้เป็นหนี้เสีย เป็น NPL ตอนอายุไม่มากแบบว่า 30 ต้นๆ ก็ใช้หนี้คืนไม่ได้เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลที่ผมมีพบว่าคนที่มีอายุ 31 ปี จากคนที่เป็นหนี้ในระบบเครดิตบูโรจำนวน 100 คน มีอย่างน้อย 21 คน ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้จนเป็น NPL อย่างน้อย 1 บัญชี เป็นต้น ภาพแบบนี้มันคือความเสี่ยงที่สะสมไปในอนาคตถ้าไม่มีการแก้ไข ป้องกัน เยียวยา ประคับประคองที่เหมาะสมนะครับ เพราะคนเป็นหนี้จนจ่ายไม่ได้จะไม่มีสมาธิในการทำงาน คือมันเลวร้ายไปทุกอย่าง ถ้ามีครอบครัวแล้วท้ายสุดมันจะไปลงที่เด็กที่ลูก… มันคือปัญหาสังคมที่เราไม่อยากเจอ

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมี นโยบายช่วยเหลือประชาชนรายย่อยในการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ โดยความร่วมมือของสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เครื่องมือของโครงการนี้คือ SAM หรือบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เพื่อให้ประชาชนแก้ไขปัญหาหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายให้ได้ข้อยุติในคราวเดียว (One Time One Stop Service) และบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถที่แท้จริง (Control Ability to Pay) ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี (ใช้ครบ ใช้ตรง สัญญาต้องเป็นสัญญา)

คำถามคือทำไมต้องมีรูปแบบโครงการอย่างนี้ เหตุผลก็เพราะว่าการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่มีเจ้าหนี้หลายราย จะมีโอกาสปลดภาระหนี้บนเงื่อนไข
          1.มีหน่วยงานกลางระหว่างลูกหนี้ และเจ้าหนี้ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้
          2.เจ้าหนี้ทุกรายได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน อันนี้ทำได้ยาก แต่ภายใต้กติกาที่รัฐเข้ามาช่วยจะมีการเกรงใจในการทำงานร่วมกัน
          3.ส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดี โดยการให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้ อันนี้ในความจริงจะมาทีหลัง เพราะตัวลูกหนี้ต้องเอาตัวรอดจากหนี้ที่กดทับอยู่ก่อน
          4.ลูกหนี้สมัครใจเข้าโครงการ เพราะในสถานการณ์นั้นเขาจะกลัวตกงาน กลัวถูกฟ้อง เจ้านายรู้ เป็นคนล้มเหลว
          5.ลูกหนี้ไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วงเวลาที่กำหนดคือประมาณ 5 ปี
          6.อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนชำระเอื้อต่อการแก้ไขหนี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเป็นหนี้ผ่อนไหว

ในเวลานี้เมื่อเดินโครงการมาถึงระดับหนึ่ง พบว่ามีคนสนใจ 3-4 หมื่นคน แต่ผ่านการลงนามในสัญญาแค่หลักพันคน ประเด็นที่พบคือคนเป็นหนี้นั้นมีหนี้เสียในส่วนของนันแบงก์มากพอสมควรเป็นหลักหลายหมื่น ดังนั้นการดึงเจ้าหนี้กลุ่มนี้เข้ามาร่วม คือการปิดจุดท้าทายความสำเร็จของโครงการ เพราะความเป็นจริงของการจ่ายหนี้ทุกบัญชีมันก็มาจากรายได้ (Pay From One Income to Many Debts) ผมยกตัวอย่าง ถ้าเราจ่ายได้ที่ 1,000 บาท/เดือน/หนี้ 1 แสนบาท เจ้าหนี้ของหนี้ 1 แสนบาท ก็จะได้รับเงินเฉลี่ยคืนจากลูกหนี้ 1,000 บาท/เดือนแล้วไปแบ่งกันเอง โดย SAM เป็นตัวกลาง ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ก็ไม่สามารถแย่งกันบี้ลูกหนี้เอาเงินคืน

ตัวอย่างในพันทิปที่สะท้อนการแก้ไขหนี้คำถาม : เคยปรับโครงสร้างหนี้ทำบัตรกดเงินสดบัตรเครดิตได้ไหม บัตรเครดิต ธนาคาร การเงิน บัตรกดเงินสด รายงานเครดิตบูโร ระบุว่า เคยปรับโครงสร้างหนี้เมื่อหลายเดือนก่อน ตอนนี้ชำระได้ปกติแล้ว สถานะในเครดิตบูโรล่าสุดเป็น 10 จะยื่นทำบัตรกดเงินสดหรือบัตรเครดิตผ่านไหมครับ

ส่วนที่ปรับโครงสร้างหนี้ คือเราได้ไปกู้เงินธนาคารมาให้แม่กับน้องชาย แล้วเขา 2 คน เป็นคนส่ง แต่ใช้ชื่อเราเป็นคนกู้ ส่วนของเรามีบัตรเครดิต 1 ใบ กับสินเชื่อรถยนต์ ส่งดีมาตลอดไม่เคยเกินกำหนดหรือขาดส่ง แค่ตอนนี้อยากทำบัตรเพิ่มเฉยๆ ครับ

คำตอบ : ไม่ผ่านครับ หนี้เก่ายังไม่หมดจะก่อหนี้ใหม่ทำไม ผมสะท้อนเรื่องของโครงการแก้หนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบรวมหนี้หลายที่ตามแนวคิดทางการ หากแต่พฤติกรรมจริงคือคนเป็นหนี้ก็ยังต้องการก่อหนี้เพิ่มหลังก่อหนี้แทนจนเป็นปัญหา ผมอ่านกระทู้นี้แล้วแต่ไม่กล้ายิ้ม ประเดี๋ยวจะถูกหาว่ายิ้มเพราะไม่รู้เรื่อง ไม่มีจุดยืน

“คนเจนวายเป็นผู้ได้สินเชื่อบ้านที่หมายถึงคอนโดเป็นจำนวนมาก รถยนต์ก็เช่นกัน อาการเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้มาก หนี้ไม่ลดตามเวลา และเริ่มจ่ายไม่ได้เป็นหนี้เสีย เป็น NPL”