คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : สิ่งที่ต้องคิดต่อจากการสื่อสารของธนาคารกลาง : วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

สิ่งที่ต้องคิดต่อจากการสื่อสารของธนาคารกลาง

นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

โดยส่วนตัวผมชอบอ่านบทความของ ผู้คนที่อยู่ในองค์กรกำหนดนโยบายและโดยเฉพาะการแถลงข่าวของ คณะ กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพราะชอบแกะข้อคิดจากภาษาไทยที่แถลง ซึ่งภาษาไทยนี้มันดิ้นได้ จะซ้ายจะขวา จะหนักจะเบาบางทีมันต้องคิดต่อหรือคิดเองแบบต้องใช้จินตนาการพอสมควร

ถ้อยแถลงจากการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่ง มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% นั้นข้อความที่ผมอ่านแล้วสะดุดใจคือ ตรงที่มีการระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในเรื่องศักยภาพระบบการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะในส่วนของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาส 2 ของปี 2561 อยู่ที่ 77.7% ไตรมาส 3 ของปี 2561 ที่อยู่ที่ 77.8% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2561 อีกด้วย

“หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจาก สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และอื่นๆ ทำให้ตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หลายตัวเริ่มปรับตัวสูงขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการและนโยบายในการบริหารจัดการอยู่แล้ว แต่หากเพิ่มขึ้นมากเกินก็จะเข้าไปดูแลในส่วนนี้ โดยจะต้องไปดูไส้ในว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากอะไร เพิ่มขึ้นเพราะเหตุใด เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป”

ถ้าท่านผู้อ่านจำได้  มีการออก มาตรการมาอย่างต่อเนื่องคือปลายปี 2560 ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล แบบเข้มข้นก็ว่าได้ ปลายปี 2561 ออกมาตรการ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  ซึ่งจะมีผลจริง ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2562 ต้นปี 2562 ออกหมัดใส่สินเชื่อจำนำทะเบียนพวก  Car for cash อันนี้ได้เสียงเชียร์จากชาวบ้านชาวช่องคลินิกแก้หนี้ ตัวเลขช่วยคนเป็นหนี้ที่ชำระไม่ได้จะดีหรือไม่

ที่น่าสนใจคือการออกมาพูดถึงมาตรฐานการคำนวณรายได้ของผู้ยื่น ขอสินเชื่อ เพื่อให้ไปถึงมาตรฐานอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้หรือ Debt Service Ratio อย่างในหลายประเทศ

แต่ผมสะดุดใจมากตรงที่พูดถึง ไอ้เจ้าสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเติบโตดี หลังหมดโครงการรถคันแรกซึ่งยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาสำหรับสินเชื่อนี้ในเวลานี้ อันนี้ต้องเอาไปคิดต่อว่า ท่านกำลังคิดจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรสำหรับสินเชื่อประเภทนี้

ฟากฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็มีบางแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นแล้ว คนเป็นลูกหนี้ต้องแบกรับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นหรือยอดผ่อนต่องวดเพิ่มอย่างแน่นอน

และจากบทความของ คุณสุพริศร์ สุวรรณิก เศรษฐกรอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคนหนุ่มหัวก้าวหน้าที่ “เก่งและดี” ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หนุ่มคนนี้ คำตอบคือปัจจุบันระบบการเงินไทย โดยรวมมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง และมีเกราะป้องกันแรงกระทบจากภายนอกคือ เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง สะท้อนจากภาระหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง ทำให้สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกได้ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงบางจุด (Pocket of Risks) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานในช่วงที่ผ่านมา อาทิ

(1) ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่เริ่มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2561 หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องจาก จุดสูงสุดในไตรมาส 4 ปี 2558

(2) ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อเพื่อ ที่อยู่อาศัย โดยยอมรับความเสี่ยงที่ สูงขึ้น ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อย สินเชื่อ (Credit Standard) ลดลง หากเกิดปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ (Economic Shock) อาจทำให้ผู้ที่กู้เงินจนเกินตัวหรือ อยู่ปริ่มน้ำไม่สามารถชำระหนี้ได้ และลุกลามไปสู่ฐานะทางการเงินของครัวเรือนข้างต้น นอกจากนี้ ยังเอื้อต่อการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ และสร้างอุปสงค์เทียม ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง และทำให้ผู้ต้องการที่อยู่อาศัยจริงต้องรับภาระในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาสูงเกินจริง

(3) พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield)อาจนำมาสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง (Underpricing of Risks) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เห็นได้ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครัวเรือนที่บางส่วนกู้ยืมเกินตัว สหกรณ์ออมทรัพย์ที่กู้เพื่อไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง หรือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้และจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ นอกจากธุรกิจหลักดั้งเดิม

มาตรการต่างๆ ที่ออกมาของ ธนาคารกลางคงมุ่งหมายที่จะจัดการประเด็นต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เพราะการสะสมปัญหา หรือสิ่งที่คิดว่าจะเป็นปัญหานั้นมันมีความเชื่อมโยงกันไปหมด  ไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ ได้อีกต่อไปแล้ว

ส่วนที่ผมอ่านแล้วชอบที่สุดของบทความนี้คือ เสถียรภาพระบบการเงิน ไทยในระยะต่อไป ระบบการเงินไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังในการจับสัญญาณความเสี่ยงต่างๆ ให้เร็วและทันการณ์ และเตรียมพร้อมรับมือ โดยใช้มาตรการดูแลในเชิงป้องกันควบคู่กับการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีประสิทธิผลในวงกว้างในเวลาที่เหมาะสม เพราะหากไม่ได้มองภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินเป็นองค์รวม เปรียบเสมือนมองไม่เห็นทั้งป่า และไม่รู้ว่าเริ่มมีควันไฟอยู่ในบางจุดที่อาจลามไปทั่วป่าได้แล้ว ความเสียหายอาจเกิดตามมาได้เกินประมาณ

คำถามสุดท้ายของผมต่อผู้เขียนบทความคือ  ต้นทุนนโยบาย จากสภาพคล่องที่สถาบันการเงินเหลือแล้วมัน วิ่งเข้ามาให้ธนาคารกลางรับตอนปิดposition จาก 1.50 เป็น 1.75 ไอ้ ส่วนต่าง 0.25 ที่ต้องจ่ายเพิ่มทุกวัน จะทำอย่างไร ใครคือผู้รับภาระครับ ขอชื่นชมอีกครั้งนะครับ