คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “มูลเหตุที่ต้องเข้ามาคุม…สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“มูลเหตุที่ต้องเข้ามาคุม…สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562

จากการสื่อสาร และข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในประเด็นของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ  ในมุมของ ผู้บริโภคหรือคนกู้ยืมว่าคิดดอกเบี้ยค่อนข้างแพง ภาษาชาวบ้านคือคนกู้จะจ่ายไม่ไหว หรือจะไปต่อกันได้ยาก นั้น ผู้เขียนเองได้ติดตามข้อมูลจากแหล่งที่มีการเปิดเผยและเชื่อถือได้ก็พบว่ามันมีประเด็นที่คนการเงินควรจะได้เข้ามาดูและช่วยๆ กันให้ข้อเท็จจริงเป็นความรู้กับคนที่คิดจะไปเป็นหนี้ในบริการนี้ ผู้เขียนต้องยอมรับในข้อเท็จจริงก่อนเข้าสู่รายละเอียดดังนี้ครับ

1.บริการทางการเงินดังกล่าวดูเหมือนจะมีการกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจนกล่าวคือถ้าไปให้บริการในสถาบัน การเงินที่มีธนาคารกลางกำกับดูแลก็จะค่อนข้างชัดเจน  ส่วนที่เป็นแบบนิติบุคคลที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายทางการเงินกับสถาบันการเงินในระบบแล้ว ใครจะเป็นคนกำกับดูแลกันแน่ ยังเห็นข้อมูลไม่ชัดในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค

2.เห็นการเติบโตและการขยายตัวทั้งด้านฐานลูกค้า ยอดปล่อยสินเชื่อการเติบโตของกำไร จากที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วต้องยอมรับว่าเป็นกิจการที่มีศักยภาพสูงมากๆ  คิดในมุมนักลงทุนแล้วต้องบอกว่า หลักทรัพย์แบบนี้…ของมันต้องมีในพอร์ตเลย

ข้อมูลจากทางการระบุว่า ลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อทะเบียนรถมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 2 แสนล้านบาท เหตุที่ สินเชื่อนี้มีแต่คนชอบเพราะกู้ง่าย จบไว ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีคนมาค้ำประกัน หากแต่ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สื่อสารออกมานั้นมักจะเสนอเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบรายเดือน ตัวอย่างเช่น 2% หรือ 3% ต่อเดือน หากคนที่พอจะรู้เรื่องคำนวณมาเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีก็น่าจะประมาณ 24-36% ต่อปี ที่สำคัญคือมันอาจมีการคิดค่าธรรมเนียมเข้ามาผสมด้วย เช่น นาย ก. ขอกู้เงิน 1 หมื่นบาท แบบเอาทะเบียนรถไปจำนำ คนให้กู้อาจคิดค่าธรรมเนียมอีก 500 บาท บวกกับค่าประกันภัย 900 บาท ทำให้ยอดเงินกู้รวมทั้งหมด 1.14 หมื่นบาท เวลาคิดดอกเบี้ยจากวงเงิน 1.14 หมื่นบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อเดือน หรือเท่ากับ 30% ต่อปี ก็มีผลทำให้นาย ก. ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3,420 บาท/ปี รวมเป็นหนี้ต้นบวกดอกทั้งหมด 14,820 บาท ดังนั้นสรุปว่าดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียมจะคิดเป็นเกือบ 50% ของเงินต้นดังกล่าว

ท่านผู้อ่านลองคิดตามรูปที่มี การคำนวณซึ่งผมได้มาจากสื่อสังคมออนไลน์นะครับ ค่อยๆ คิดตามว่ามันใช่หรือไม่

เป็นที่น่ายินดีครับว่าธนาคาร แห่งประเทศไทยได้เตรียมออกมาตรการกำกับดูแลบริษัทสินเชื่อทะเบียนรถ ไม่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 28% ต่อปี โดยสามารถคิดค่าทวงถามหนี้ ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายกรณีเช็คคืนได้เพิ่มเติมตามมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดี โดยข่าวระบุว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสหนึ่งนี้
และจากบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัทที่ให้บริการทางการเงินชนิดนี้ ที่เปิดเผยต่อสื่อได้ระบุว่า “…เป้าหมายของเราในปีนี้ก็คือการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อของเรานะครับ โดยเน้นวงเงิน ที่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อ 1 สัญญา ซึ่งปัจจุบันเรามีทั้งหมด ประมาณ 2 ล้านสัญญา เราต้องการเติบโตในตัว สัญญา

และก็ตัววงเงินในการปล่อยกู้ เบื้องต้น เป้าหมายปีนี้ คือการเพิ่มฐานวงเงินในการปล่อยกู้ หรือ นิวโลน (เงินปล่อยกู้ใหม่) อยากเพิ่มซัก 35% และเป้าหมายปีถัดไปอีก 30% ซึ่ง เป็นเป้าหมาย 3 ปีของเรา โดยปีที่แล้วคร่าวๆ 9 เดือน เราทำได้ 40% งั้นแผน 3 ปี ก็คือ 40%, 35% และ 30%…”

เราคงต้องมาคิดต่อว่าเหตุใดผู้คนจึงใช้บริการทางการเงินแบบนี้ดอกเบี้ยถูกหรือแพงไปเมื่อเทียบกับความเสี่ยง  การจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรของทางการจะมีผลให้เกิดต่อการเข้าถึงแหล่งเงินง่ายหรือยากขึ้นในผู้คนกลุ่มที่ต้องการแหล่งเงินเหล่านี้… ยังรอความคิดเห็นนะครับ