คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ตัวอย่างทุกข์ของคนที่คิดจะมีบ้านเวลานี้ : วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ตัวอย่างทุกข์ของคนที่คิดจะมีบ้านเวลานี้

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2561

 

บทความวันนี้จะขอยกเอาสิ่งที่มีคนถามข้อมูล เพื่อให้ผู้คนโลกโซเชียลช่วยตอบ และเมื่อท่าน ผู้อ่านได้เห็นคำถามและคำตอบ ท่านลองคิดต่อว่าเราๆ ท่านๆ เห็นอะไร

คำถาม : สวัสดีครับ สมาชิกทุกท่าน รบกวนสอบถามเกี่ยวกับการซื้อบ้านเนื่องจากจะซื้อบ้าน แต่มีความกลัวจะกู้ไม่ผ่าน

1.เคยติดเครดิตบูโรมานานมาก เพราะไปทำบัตรให้ญาติ จนตอนนี้จะซื้อบ้าน เลยตั้งใจปิดบัญชี (สิ้นเดือน ธ.ค. 2561)
วิเคราะห์ข้อเท็จจริงโดยผู้เขียน(1) ให้คนอื่นก่อหนี้ในชื่อตนด้วยความ สมัครใจบนพื้นฐานความเชื่อใจเพราะเป็นญาติ

(2) หากเมื่อทราบว่าญาติคนนั้นไม่ไปชำระหนี้แต่หนี้นั้นเป็นชื่อตนตนจะเป็นคนเสียหายในประวัติ เหตุใดจึงไม่ชำระหนี้ไปก่อนแล้วไปติดตามเอากับญาติหรือแจ้งให้ญาติมาชำระหรือปิดบัตรปิดบัญชีไม่ให้ก่อหนี้ลุกลาม จากนั้นตัวเองในฐานะคนรับบาปเคราะห์ก็ไปเจรจาชำระหนี้กับเจ้าหนี้

เพราะการไปออกบัตรให้ญาติบัตรจะเป็นชื่อเราถึงแม้จะเป็นบัตรเสริมหนี้ก้อนนั้นก็เป็นของเรา เจ้าหนี้จะมาทวงที่เราเสมอ เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งสับสนนะครับว่า พอเราไปออกบัตรให้คนอื่นในเครดิตของเรา แล้วเราไม่ควรรับผิดชอบ เจ้าหนี้เขาไม่มีทางรู้ว่าเราวางแผนคิดกันอย่างไรตอนยื่นขอบัตร  เรากับเขาทำสัญญา หรือไม่ ด้วยตนเองใช่ไหม สัญญานั้นมันระบุว่า เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา เราเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือไม่ แล้วตัวเราจะจั่วหัวว่าหนี้นั้นเราไม่ได้ก่อด้วยเหตุแห่งความสงสารไม่ได้นะครับ  ข้อเท็จจริงคือตัวเราอนุญาตให้บุคคลอื่นบนความเชื่อใจมาใช้เครดิตของเราไปก่อหนี้ในนามของเรา

สังคมของเรามักจะเริ่มต้นอธิบายเหตุที่มาของปัญหาเรื่องหนี้สินบนความคิดความเห็น ต้องกลับไปที่ความเป็นจริงที่เจ็บปวดในเวลานั้น ผู้เขียนขอให้ข้อคิดว่าหากญาติคนนั้นเขาสามารถออกบัตรได้เองแล้วแสดงว่าเขาผ่านการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ เหตุใดเขาจึง ไม่ทำหรือทำแล้วมันไม่ผ่านหากตัวเราทราบข้อเท็จจริงแล้วว่าญาติคนนั้นมีเครดิตไม่ถึง ทำไมเราจึงมีข้อมูลที่ดีกว่าในการกล้า (ผู้เขียนใช้คำว่ากล้านะครับ)  ที่จะพิจารณาเอาตนเองเข้าไปแบก ความเสี่ยงแทน มันจึงมาที่บทสรุปว่า ตัวเรามีเหตุและผลใช้เหตุและผลไหมในการตัดสินใจ

(3) คำว่าติดเครดิตบูโร น่าจะหมายถึงว่ามีการค้างชำระเกิดขึ้นแต่ไม่มีการจัดการชำระให้เสร็จสิ้น ดังนั้น อย่าไปเลี่ยงใช้คำว่าติดเครดิตบูโรเลยครับ คำตอบตรงๆ ที่ชัดเจนคือ ค้างชำระหนี้ คำคำนี้เป็นคำที่เป็นความจริงที่เจ็บปวด คนพูดจะมีทั้งความกลัวความอายแต่มันคือความจริง ถ้าเรายังไม่รับความจริง เราก็จะไม่คิดเต็มร้อยที่จะแก้ปัญหา ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับว่า มีหนี้ค้างชำระก็ต้องชำระก่อนครับเมื่อชำระหนี้นั้นแล้ว ยอดหนี้จะเป็นศูนย์  ประวัติที่ระบุว่าเดือนนั้นที่ค้างชำระก็จะอยู่ในระบบ 3 ปี พ้นจาก 3 ปีไปแล้วข้อมูลนั้นก็จะหายไป แต่ถ้าตัวเราไม่ไปชำระหนี้ก้อนนั้น เดือนต่อๆ มามันก็จะแสดงรายการว่าค้างชำระอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแม้ว่าเดือนในอดีตที่ระบุว่าค้างชำระจะพ้น 3 ปี และถูกเอาออกไปแล้ว  แต่เดือนใหม่ที่ระบุว่าค้างชำระก็ยังมีการรายงานเข้ามาโดยตลอดภาษาชาวบ้านคือ ข้อมูลค้างชำระเดือนใหม่ไหลเข้า ข้อมูลค้างชำระเดือนเก่าไหลออก ใหม่เข้าเก่าออกข้อมูลเดือนปัจจุบันก็ยังคงแสดงอยู่

สมมติปีปัจจุบันคือปีที่ 10 ข้อมูลเครดิต บูโรจะแสดงผลความจริงในปีที่ 10 ปีที่  9 และ ปีที่ 8 ย้อนหลัง ถ้าเราค้างชำระในปีที่ 5 แล้วจนบัดนี้ยังไม่ชำระ ข้อมูลค้างชำระจะไหลเข้าไหลออกอย่างที่ผู้เขียนได้เรียนไว้ตั้งแต่ปีที่5จนถึงปีที่ 10 จนถึงปัจจุบันสิ่งที่ปรากฏคือยอดหนี้ที่ค้างชำระในจุดเริ่มต้นเมื่อปีที่ 5 แต่ในรายงานจะถูกแสดงแค่ย้อนหลัง 3 ปี มันจึงระบุข้อมูลใน วันนี้คือปีที่  10 ปีที่ 9 และปีที่ 8 เพราะว่ามันคือความจริงว่า จากวันนั้นจนถึงวันนี้มันยังไม่มีการชำระหนี้

2.เพิ่งเปลี่ยนที่ทำงานได้แค่ 3 เดือน มี ผลกระทบต่อการกู้ไหม หรือต้องรอให้ผ่านโปร และรอให้ครบ 6 เดือนก่อนค่อยยื่นกู้
—-อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขผู้ให้กู้—-

3.ปัจจุบันไม่มีภาระอะไร รับเงินเดือนประมาณ 3.5 หมื่นบาท/เดือน  จะสามารถกู้ได้ประมาณเท่าไรครับ (บ้านที่ไปดูมาประมาณ 2.9 ล้านครับ)
—-ปรึกษาเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินได้ เลยครับ  เขาจะมีตารางข้อมูลช่วยการคำนวณอยู่แล้ว—

ท้ายสุด ผู้คนที่อยู่ในแวดวงการเงิน การส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องทางการเงินคงต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เหตุใดคนเขาไปถามความเห็นจากโลกที่เขาไม่รู้จักตัวตน คนให้ คำตอบ ตอบถูกตอบผิดหรือไม่ ทำไมเราๆ ท่านๆ ที่เปิดเผยพร้อมให้คำตอบเขาจึงไม่มาหา เขาไม่เชื่อใจไม่เชื่อมั่นตรงไหนเราตอบคำถามได้ไม่ถูกต้อง-ไม่ถูกใจตรงไหนกัน ทั้งนี้ เพื่อเอามาปรับปรุงบริการครับ