คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : มองมุมต่างกันในประเด็น หนี้ครัวเรือนไทย : วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

มองมุมต่างกันในประเด็น หนี้ครัวเรือนไทย

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้ให้ข้อมูลว่าหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2 ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 12.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เทียบกับปีก่อน และได้ลดระดับลงมาเป็น 77.5% ต่อ จีดีพี จากที่เคยสูงสุด 80.8% ต่อ จีดีพี เมื่อปี 2558 ในข่าวยังมีข้อมูลเพิ่มว่า สัดส่วน 73% เป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น กู้ซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และอสังหาริมทรัพย์อื่น ถือว่าเป็นการก่อหนี้ให้เกิดสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นและใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต  สภาพัฒน์มองว่ายังไม่น่าเป็นกังวล
          

ในฟากฝั่งของผู้คนที่ออกมาพูด ที่เน้นความเป็นห่วงมาก เพราะมีข้อมูลจากการสำรวจว่า ครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 3 แสนกว่าบาท 60-70% เป็นหนี้ในระบบ ส่วนที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบตัวอย่างเช่น มีรายได้ 3 หมื่นบาท/เดือน แต่มีภาระหนี้ที่ต้องชำระทุกเดือนประมาณ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ หากวัดจากจุดนี้ก็ถือได้ว่าครอบครัวนี้  ครัวเรือนนี้มีภาระการจ่ายหนี้เต็มเพดานความสามารถในการชำระหนี้
          

ในมุมมองผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองฟากฝั่งต่างก็มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจดังนี้
          

1.ข้อมูลระดับ Macro มองได้ว่าปัญหายังไม่ได้ร้ายแรง เช่น อดีต ดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิด และมีข้อห่วงใยในความกู้ง่ายจากฟินเทค  เพราะท่านก็เข้าใจนิสัยคนไทยที่ก่อหนี้เก่งปัญหาเรื่องนี้จะหมุนวนมาหลอกหลอนกันอีกในอนาคต
          

2.ข้อมูลระดับ Micro จากการสำรวจบอกว่า บางกลุ่ม บางระดับรายได้ โดยเฉพาะที่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน มีความสามารถชำระหนี้ค่อนข้างตึงตัวหากเผลอก่อหนี้เพิ่ม จะนำพาชีวิตกลับไปจมบ่อหนี้อีก
          

3.มุมมองของผู้เขียน  ขอเสนอให้ท่านผู้อ่านคิดและลองพิจารณา  เห็นด้วย เห็นต่าง ก็ไม่ว่ากันครับ
          (3.1) หนี้ครัวเรือน 12 ล้านล้านบาท ยังคงเป็นปัญหากับระบบเศรษฐกิจไทยและหนี้ครัวเรือนนี้ยังมีการเติบโตในระดับพอสมควร
          (3.2)  ขีดความสามารถในการชำระหนี้ แม้ภาพใหญ่จะพอไปได้ แต่บางกลุ่มถือว่าวิกฤตและเสี่ยงกลายเป็นหนี้มีปัญหา
          (3.3)  หากเรามีข้อมูลหนี้แล้ว ถ้าเรามีข้อมูลรายได้เพิ่มเติม จะเห็นภาพคมชัดกว่านี้  จึงมีสิ่งที่เรียกว่า อัตราวัดความสามารถในการชำระหนี้ (Debt service ratio) หรือภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt to income ratio) เพื่อติดตาม วิเคราะห์หนี้สินภาคครัวเรือนไทยได้อย่างสมบูรณ์  ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ครัวเรือนไทยจะไม่กลับไปจมบ่อหนี้ ตะกายบ่อหนี้อีกต่อไปอย่างสมบูรณ์
          

ข้อคิดจากเรื่องนี้ คือ การรับข้อมูลข่าวสารมาไม่ว่าจากแหล่งใด จำเป็นต้องแยกแยะ วิเคราะห์ และอย่าเชื่อไปตามคำกล่าวที่บอกต่อๆ กันมา
          

ยิ่งเวลานี้มนุษย์การเมืองกำลังออกมาเป็นผู้สื่อสารข้อมูล ต่อสังคม  หากสติไม่มั่นคง ท่านผู้อ่านจะเป็นเหยื่อของความหลอกลวงได้ครับ