คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “ความกังวลหากดอกเบี้ยจะปรับขึ้น” วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“ความกังวลหากดอกเบี้ยจะปรับขึ้น”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2561

 

ความกังวลของผมหากดอกเบี้ยที่พูดๆ กันจะมีการปรับขึ้น
          

ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวในที่นี้ก่อนนะครับว่าผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ได้มีความรู้เรื่องเศรษฐมิติ ที่เรียนมาคือ บัญชี ต่อด้วย MBA และมีปริญญาโทอีกใบด้านกฎหมายเศรษฐกิจ เท่านั้น
          

ทุกวันนี้ก็มีหน้าที่ดูแลกิจการที่เป็นถังเก็บข้อมูล เก็บสมุดพกของคนเป็นหนี้จากสถาบันการเงินประมาณ 100 แห่ง ซึ่งเป็นข้อมูลของผู้เป็นลูกหนี้สินเชื่อบ้านสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเกษตร กว่า 26 ล้านลูกหนี้ เกือบ 100 ล้านบัญชี
          

พอได้อ่านและเห็นข้อมูลที่ปรากฏจากการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งล่าสุดแล้วมีคำถามในใจใคร่คิดออกมาดังๆ ดังนี้ครับ
          

1.เมื่อมีคำว่า กนง.มีความกังวลมันหมายความว่าอย่างไรกันแน่กังวลและคิดจะทำอะไรต่อครับ หรือต้องมีน้ำหนักว่ากังวลมากอีกครั้งถึงจะ Take Action
          

2.ช่วยอธิบายคำว่า Policy Space ให้เป็นภาษาบ้านๆ ได้หรือไม่ครับว่าถ้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วมันจะรักษาพื้นที่ที่ว่านี้ได้อย่างไร อีกประการคือพื้นที่มากหรือน้อยมันเป็นเรื่องการบริหารจัดการเงื่อนไขหรือมันเป็นอะไรที่ต้องมีวินัยในการรักษาไม่ให้มากไม่ให้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้
          

3.เงินเฟ้อที่มันต่ำกว่าขอบล่างมานาน และแม้ว่าจะดำเนินนโยบายมาสามสี่ปีแล้วมันยังไม่ค่อยเกาะถึงขอบล่าง แสดงว่านโยบายมันเข้มไป หนักไป หรือเปล่า หรือว่ามันเป็นเรื่องของ ระบบนิเวศที่มันไม่เหมือนเดิม
          

เวลานี้คนเมืองซื้อของผ่านออนไลน์กันไปหมด ค้นหาราคาที่ดีที่สุด หน้าตาของ ห่วงโซ่การผลิต การขาย การจำหน่ายกระจายสินค้ามันเปลี่ยนไปแล้วมันมีผลกับเงินเฟ้อหรือไม่
          

4.คือถ้าเราขึ้นดอกเบี้ย เงินจะไหลเข้ามากกว่าไหลออกหรือไม่
          

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะแข็งขึ้นหรือไม่
          

ผู้ส่งออกเราจะขายของได้เงินบาทน้อยลงไหม แต่เขาก็ต้องชำระหนี้ เงินบาทในบางสัญญาเขาจะได้รับผล กระทบมากหรือไม่ เขาค้าขายแข็งแรงพอจะรับแรงกระแทกครั้งนี้ได้หรือไม่
          

แล้วถ้าเขาเป็นคนตัวเล็ก ตัวน้อย ล่ะ หรือเพิ่งจะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้มาหมาดๆ เขาเหล่านั้นที่ยังอิดโรยจากการต่อสู้จะพอมีแรงยกดาบไปลุยต่อได้หรือไม่ อันนี้ผมถามแบบคนไม่รู้จริงๆ ครับ
          

5.เวลานี้เรามีหนี้ครัวเรือนในระบบของเครดิตบูโรกว่า 10.7 ล้านล้านบาท สินเชื่อบ้าน คอนโด ทาวน์เฮาส์ คิดเป็นกว่า 30% เมื่อสามสี่ปีที่แล้วดอกเบี้ยเตี้ยติดดินมีการคิดดอกเป็นขั้นบันไดพอครบ 3 ปีถ้าไม่หาทาง รีไฟแนนซ์ก็ต้องเจอกับดอกเบี้ยอัตราปกติ
          

วันนี้ใช่เลยต้องผ่อนยอดเงินปกติแม้ว่าจะประหยัดแบบไม่ไปหาแมวน้ำที่ไหนแล้วก็ตาม สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ทั้ง Gen X และ Gen Y หรือพวกคนสูงวัยอย่างผู้เขียนรวมๆ แล้วก็ประมาณ 4% โดยที่ผ่านๆ มามันก็ขึ้นมาโดยตลอด มันจะไปไหวหรือไม่ ถ้ายอดผ่อนต่องวดมันเพิ่มขึ้น
          

นี่ยังไม่รวมพวกที่ขอปรับโครงสร้างหนี้ แล้วเวลานี้จะไปต่อได้อย่างไรถ้ายอดผ่อนมันต้องสูงขึ้นเพราะเหตุมาจากดอกเบี้ยมันจะเพิ่มขึ้น
          

6.ในส่วนของพวกที่เราเรียกว่าปรับโครงสร้างหนี้ เวลานี้ที่ปรากฏในข้อมูลก็มีประมาณ 7 แสนล้านบาท จากทุกประเภทสินเชื่อ 60% น่าจะไปรอดที่เหลือเป็นคำถามที่รอคำตอบ
          

อันนี้มาจากการทดลองวิเคราะห์ตัวเลขทางสถิติ ในมุมมองของพวกผม ซึ่งอาจจะมองในแง่ร้ายเกินไปหรือดีเกินไปต้องขอรับคำติชมด้วยนะครับ
          

ประเด็นอยู่ที่ว่ากลุ่มนี้เพิ่งฟื้นจากพิษไข้ ถ้าเจอยอดผ่อนชำระเพิ่มแต่กระแสเงินสดได้น้อยลง ไม่ว่าจะมาจากเหตุใดเช่นขายไม่ดีลูกค้าเบี้ยวเจอต่อรองราคา หรือจากเงินบาทแข็งค่า มันก็เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะยอมเป็นหนี้เสียเลย แล้วไปขอความเมตตาจากศาลท่านในการลดต้น ลดดอก ลดเบี้ยปรับหรือเปล่าอันนี้คิดแบบบ้านๆ(ฉุกใจทุกครั้งที่เห็นคนค้าขายฆ่าตัวตายจากปัญหาธุรกิจ)
          

จะทำการสิ่งใดให้ได้ผล จะต้อง เอาใจตนวางที่ไหน หากเคลื่อนคลาดจากเหตุประเทศไทยผองเภทภัยก็จะเกิดกับคนจน คนชั้นกลาง  (ที่ทำงานหาเงินผ่อนทุกสิ่งอัน)
          

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ