คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : การเข้าถึงบริการทางการเงิน : วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

การเข้าถึงบริการทางการเงิน

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561

สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดและนำเสนอมากมายเกี่ยวกับการตั้งตัวแทนการให้บริการทางการเงินพื้นฐาน อันได้แก่ การฝาก ถอน โอน และชำระค่าบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการลดจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่บางแห่งจะปรับลดค่อนข้างมากในช่วงสามปีข้างหน้าจากระดับพันกว่าสาขา เหลือเพียงสี่ร้อยแห่ง เป็นต้น

คำถามก็คือมันมีอะไรที่มาเป็นเหตุและปัจจัยจนต้องทำให้ธนาคารกลางต้องมีแนวนโยบายให้สถาบันการเงิน เช่นธนาคารสามารถมีตัวแทนการให้บริการ

เมื่อตามไปดูบทวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ระบุออกมาชัดเจนว่า ถ้าเราวัดการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบว่าต้องมีรัศมีการเดินทาง 5 กิโลเมตร (กม.) เป็นหลักแล้วจะพบว่า

(1) หมู่บ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้าถึงบริการทางการเงินในระบบสูงสุด 95% แต่ในต่างจังหวัด เช่น ภาคอีสานนั้น มีหมู่บ้านเข้าถึงน้อยสุดเทียบภาคอื่นแค่ 30%

(2) ข้อมูลครึ่งหลังปี 2559 จะพบว่าในประเทศไทยเรา ATM จำนวน 26.5 เครื่อง/1 แสนคน สาขาธนาคาร 20.9 สาขา/1 แสนคน สหกรณ์ 13 แห่ง/1 แสนคน

(3) เมื่อนำจุดพิกัดหมู่บ้านกว่า 6.74 หมื่นจุดมาวัดความใกล้และไกลในการเข้าถึงบริการทางการเงิน พบว่ามีค่าเฉลี่ยใกล้สุดเพื่อเข้าถึง ATM 6.6 กม. สาขาธนาคาร 6.9 กม. สถาบันสหกรณ์อยู่ที่ 5 กม. โรงจำนำ 27กม. สถาบันการเงินนอกระบบ เช่น สหกรณ์กลุ่มอาชีพต่างๆ 7.9 กม. สถาบันการเงินชุมชน 28.5 กม.(4) องค์กรที่น่าจะเหมาะเป็นตัวแทนให้บริการ โดยดูจากที่ตั้งและการหมุนเวียนของเงิน ได้แก่  4.1 ที่ทำการไปรษณีย์ที่มีระยะทางเข้าถึง 7.8 กม. 4.2 สถานีบริการน้ำมัน 5.4 กม. 4.3 ร้านสะดวกซื้อ 7.8 กม. 4.4 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมตู้เติมเงิน 13.6 กม.

จึงไม่แปลกใจที่มีผู้คนออกมาคิดกันไปต่างๆ นานาว่าการให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการเงินดีขึ้น่าจะใช้สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ร้านที่มีเครื่องรูดบัตร

ไม่นับที่ทำการไปรษณีย์ที่ทำได้อยู่แล้ว ลองคิดดูสิครับว่าจากตัวเลขรายได้ปี 2560 รายได้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ต่อสาขาเฉลี่ย 78,706 บาท/วัน รายได้ต่อบิลต่อครั้งที่เข้ามาซื้อของตกประมาณ 65 บาท เฉลี่ยคนเข้าร้านประมาณ 1,216 คน/วัน มากกว่าสาขาธนาคารเยอะมาก

(5) ธนาคารควรร่วมกันทำ ATM สีขาวแบบในต่างประเทศลักษณะ คือ ไม่ใช่ ATM ของธนาคารใดธนาคารหนึ่งติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล และลดจำนวน ATM ที่กระจุกตัวมากเกินไป ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนได้

(6) รัฐบาลกำลังออกกฎหมาย “สถาบันการเงินชุมชน” เพื่อให้บริการทางการเงินระดับชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ยกระดับเป็นนิติบุคคล ให้ ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินเป็นพี่เลี้ยงหน้าตาของรูปแบบการให้บริการทางการเงินไม่นานคงจะชัดเจนมากขึ้น และช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น