คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ระบบนิเวศ ทางการเงินไทยปี 2561 : วันจันทร์ 25 ธันวาคม 2560

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ระบบนิเวศ ทางการเงินไทยปี 2561

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ 25 ธันวาคม 2560

ในช่วงปลายปี 2560 กับบรรยากาศของความหนาวเย็นที่มาเยือนคนกรุงเทพฯ ให้ได้รู้สึกถึงการนอนหลับพักผ่อนโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ได้เห็นคนวัยทำงาน หนุ่มสาวมีความคึกคัก เมื่อผมได้ย้อนคิดถึงพัฒนาการที่ผ่านมาของระบบสถาบันการเงิน ที่แทบทุกแห่งต่างตื่นตัว ริเริ่ม เร่งรัดโครงการต่างๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของบรรดาลูกค้าที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าอาการรอไม่ได้ รอไม่เป็น บ่นทุกเรื่อง ไม่พอใจในทุกสิ่งอัน ต้องการคำตอบในคำถามที่บางครั้งก็ไม่น่าจะถาม ไม่ควรถาม หรือไม่ใส่ใจกับคำตอบ เปรียบเทียบเงื่อนไขก่อนใช้บริการ ต้องการได้บริการทุกที่ ทุกหนแห่ง ทุกเวลา และตั้งคำถามกับความเหมาะสมของการคิดค่าธรรมเนียม
ดังนั้น การจัดให้มีระบบการให้บริการทางการเงิน แบบไม่ต้องให้ลูกค้ามาแสดงตนต่อหน้าเพื่อยืนยัน ตัวตนก่อนการให้และรับบริการที่เรียกว่า Face to Face อย่างที่เราคุ้นเคย คือยื่นบัตรประชาชน ลงนามในเอกสารกระดาษรับรองสำเนา (อย่างที่ใครๆ หลายคนบอกว่ายุค 0.4)
หากเราลองนึกภาพว่า นาย A ต้องการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร X แต่นาย A ไม่ต้องมาแสดงตนที่จุดให้บริการของธนาคาร (เพราะต้นทุนการนำตัวเองมาในจุดนั้นมันแพง ทั้งตัวเงิน เวลา ค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียความรู้สึก) หากว่านาย A ติดต่อกับธนาคาร X ผ่านเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ที่เรียกว่าผ่าน Bank Application จากนั้นธนาคาร X ก็จะติดต่อระบบกลาง หรือ Digital Platform ที่มีการเชื่อมโยงไปกับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่มีการเก็บข้อมูลตัวตนของนาย A ไว้ในระบบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trust Source Information เช่น หน่วยงานภาครัฐด้านทะเบียนราษฎร ด้านทะเบียนบุคคลต่างด้าว ด้านหนังสือเดินทาง ด้านทะเบียนบุคคลล้มละลาย ด้านการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่น
เมื่อธนาคาร A ได้รับการยืนยันจนมั่นใจผ่านระบบการเชื่อมโยงผ่าน Digital Platform กลางนี้แล้วว่านาย X คือนาย X ธนาคาร A ก็จะให้บริการกับนาย X จนครบกระบวนการโดยที่นาย X ไม่ต้องมาเจอกับพนักงานของธนาคาร A ใดๆ ทั้งสิ้น ความยุ่งยากที่ผมกล่าวมาข้างต้นบนพื้นฐานระบบแบบ 0.4 จะได้ก้าวไปสู่สภาพแวดล้อม 4.0 อย่างสมบูรณ์
ผมจึงอยากจะเรียนว่าโครงสร้างพื้นฐาน ทางการเงินนี้ในประเทศไทย ในระบบการเงินไทย ที่เป็น Digital Platform กลางนี้ได้ถูกกำหนด ให้เกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป ภายใต้ชื่อ Digital ID platform ภาคเอกชนที่เข้ามาลงขัน ลงแรงในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมประกันชีวิต/ประกันภัย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิต บูโร) เป็นต้น
ผมเชื่อว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแบบนี้ วิธีคิดแบบนี้ มันไม่สามารถทำได้ในยุคภาครัฐอย่างที่แล้วมา เพราะการทำให้ทุกฝ่ายยอมนำข้อมูลออกมาเปิดเผยเพื่อช่วยส่วนกลางนอกเหนือจากหน่วยงานตน อุปนิสัยและวิธีคิดของทุกสถาบันในการแชร์ข้อมูล (ได้เอา เสียไม่เอา) มันเป็นอุปสรรคตลอดเวลา เราจึงเห็นระบบที่มันไม่เชื่อมโยง เช่น รถไฟฟ้าวิ่งมาต่อกันไม่ได้ เพราะขาดตรงกลางไปหนึ่งสถานี จนต้องใช้ ม.44 มาจัดการ จะขึ้นรถไฟฟ้าต้องเอาธนบัตรไปแลกเหรียญ เอาเหรียญมาหยอดตู้เพื่อได้บัตรเดินทาง พอจะลงใต้ดินก็ใช้บัตรไม่ได้ ต้องเอาธนบัตรไปแลกเหรียญที่เป็นตั๋ว เอาเหรียญ ดังกล่าวไปหยอดตรงช่องทางเข้ารถไฟใต้ดิน พอจะไปขึ้นรถประจำทางก็ต้องใช้อีกแบบหนึ่ง จะไปทางด่วนก็อีกแบบหนึ่ง ทั้งๆที่ ผู้คนที่รับผิดชอบก็ได้งบไปดูงานแทบจะทั่วโลก ได้รู้ได้เห็นว่าฮ่องกงทำอย่างไร ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เขาทำอย่างไรกันบ้าง
แต่สุดท้ายความต้องการของลูกค้าจะชนะทุกสิ่ง เพราะลูกค้าเป็นมากกว่าพระเจ้า ในปี 2561 สถาบันใดไม่เปลี่ยนแปลง สถาบันนั้นจะดำรงอยู่อย่างยากลำบากหรือล้มหายตายจากไปอย่างแน่นอน โครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินไทยแบบใหม่ๆ ที่มารองรับธุรกรรมที่เรียกว่า Online Transaction หรือ Digital Transaction จะนำพาให้ระบบการให้บริการทางการเงินเข้าสู่ยุคสมัยที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายอย่างแน่นอน…ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่