คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : เราเห็นอะไรจากการออกมาแถลงในไตรมาส 3 : วันจันทร์ 4 ธันวาคม 2560

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

เราเห็นอะไรจากการออกมาแถลงในไตรมาส 3 

วันจันทร์ 4 ธันวาคม 2560

 

สืบเนื่องจากการแถลงผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2560 ที่ออกมาในราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ต้องบอกได้ว่ามีความเข้มข้น มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ครับ
1.การเติบโตของสินเชื่อจากฝั่งธนาคารพาณิชย์ (ย้ำนะครับว่าไม่รวมจากสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ) ในไตรมาส 3 เท่ากับ 3.3% ขณะที่การเติบโตของ GDP ในไตรมาสเดียวกันโตได้ถึง 4.3% ตัวเลขมันกลับข้างกันแทนที่สินเชื่อจะโตมากกว่า
2.มีความเป็นห่วงเรื่อง NPL ในสินเชื่อที่ให้กับ SME ซึ่งอาจจะด้วยเหตุของการไม่สามารถปรับตัวกับสภาพเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในการค้าขาย หรือความต้องการในสินค้าที่ตัวเองทำขายนั้นมันลดลง และปัญหาเรื่องเข้าไม่ถึงแหล่งเงินยังคงอยู่
3.สินเชื่ออุปโภคบริโภคดีขึ้น เติบโตดีขึ้นมาก แต่ยังคงเป็นห่วงสินเชื่อบ้านที่เห็นว่า NPL ขยับเพิ่มเนื่องจากสามสี่ปีก่อนปล่อยสินเชื่อบ้านไปเยอะด้วยดอกเบี้ย Promotion สามปีแรกดอกเบี้ยถูกอย่างเหลือเชื่อ พอขึ้นปีที่สี่ต้องจ่ายต้นและดอกแบบปกติก็อาจติดขัดจนค้างชำระได้ นั่นก็หมายถึงเรื่องรายได้ เรื่องความสามารถในการชำระหนี้
ต่อเนื่องด้วยต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงการนำข้อมูลด้าน สินเชื่อแบบสุ่มตัวอย่างจากเครดิตบูโร ในกลุ่ม SME ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล มาย่อย มาวิเคราะห์ เพื่อดูไส้ในสำหรับการเสนอต่อทางการในการนำไปกำหนดนโยบาย โดยทีนี้ข้อมูลมาจากฝั่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจภาครัฐบ้าง โดยผู้บริหารสูงสุดของกรุงไทยเป็นผู้นำเสนอนั้นพบว่า SMEs ที่ตัดความเป็นตัวตนออกไปแล้วนั้น จากฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร กว่า 1.8 แสนบัญชี (SMEs ทั้งประเทศที่ลงทะเบียนไว้กับ สสว.กว่า 3 ล้านราย)
(1) SMEs ภาคอีสาน เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
(2) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนพบว่าเข้าถึงได้เพียง 6% ซึ่งถือว่า “ต่ำมาก”
(3) ปริมาณหนี้ที่มีปัญหาทั้งที่เป็น NPL และพวกอ่อนแอมีค้างชำระไม่ตรงเวลาแต่ยังไม่เกิน 90 วัน ข้อมูลระบุว่า SMEs ที่ได้สินเชื่อไปแล้วนั้นเป็นหนี้เสีย (NPL) อยู่ราว 12% และที่เริ่มอ่อนแอ ชำระหนี้ไม่ตรงเวลาอีก 11% รวมกันแล้วจึงเท่ากับว่ามี SMEs 23% จากกลุ่มตัวอย่างประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล กำลังต้องการความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ ปรับตารางการผ่อนหนี้ หรืออื่นๆ โดยเฉพาะ SMEs ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
(4) พบข้อมูลต่อไปว่า SMEs 25% ของกลุ่มตัวอย่างนั้น มีการใช้วงเงิน สินเชื่อเกิน 80% (Highly Utilization) อาการแบบนี้พอจะตีความได้ว่ากำลังต้องการเงินทุนเพิ่มมากขึ้น และเป็นลูกหนี้ที่ดีมีความสามารถในการชำระหนี้ที่สม่ำเสมอ ก็ต้องรีบให้กู้เพื่อเพิ่มความสามารถให้ SMEs กลุ่มนี้เติบโตต่อไปได้ไม่ติดขัด
กลับมาที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคยอดฮิต คือ สินเชื่อบ้านและคอนโด จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า
(1) คน Gen Y ยังคงเป็นลูกหนี้หน้าใหม่รายใหญ่ เพราะมีการอนุมัติสินเชื่อใหม่ใน 9 เดือนกว่า 2.54 แสนบัญชี เกินครึ่งหนึ่งของบัญชีที่อนุมัติเป็นลูกค้าคน Gen Y
(2) ยอดบัญชีที่เป็นหนี้เสียหนี้มีปัญหาของคน Gen Y ตอนนี้เท่าที่มีข้อมูลประมาณหกหมื่นกว่าสัญญา ถ้าเป็นคน Gen X ก็เกินแสนกว่าสัญญา หากพิจารณาตัวเลขเป็นยอดเงินก็จะพบว่ามีเปอร์เซ็นต์ของ NPL ต่อยอดเงินกู้บ้าน คอนโดที่ปล่อยจากสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรทั้ง 97 แห่งกว่า 3.5 ล้านล้านบาท เท่ากับ 4.1% เติบโตขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2558
ภาพสรุปครับ “สงครามยังไม่จบ ยังนับศพทหารไม่ได้ คุณภาพลูกหนี้ภายใต้ความกดดันยังคงเป็นประเด็นหลักต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ปีนี้ไปจนต้นปีหน้าอย่างแน่นอน” ขอบคุณครับ