คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ เรื่อง “บทเรียนในการพัฒนาระบบนิเวศระบบการเงิน” นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ   นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทเรียนในการพัฒนาระบบนิเวศระบบการเงิน

“ธนาคาร ต้องคิดให้มากกว่าการเป็นธนาคาร” ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวไว้เหมือนเป็นธง เป็นเป้าหมายใหม่ของระบบการให้บริการทางการเงิน เพราะในอดีตเคยมีฝรั่งกล่าวว่า …ผู้คนนั้นต้องการบริการทางการเงินหรือธุรกรรมการธนาคาร แต่ไม่จำเป็นต้องมีธนาคารมาเป็นคนให้บริการนี้ก็ได้… หัวใจของเรื่องทั้งหลายทั้งปวงจะมาจบที่คำว่า “ความต้องการของลูกค้า”
ดังนั้น ในแวดวงการเงิน การธนาคาร Fintech หรือการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน ที่กำลังเป็นแนวโน้มที่เข้ามาในสังคมเศรษฐกิจไทย จะพบว่ามีการพูด การสนทนา การสัมมนา การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร กันถึงเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างน้อย 3-4 เรื่อง ได้แก่
(1) การพิสูจน์ยืนยันตัวตนของคนที่จะมาใช้บริการผ่านเครื่องมือสื่อสาร (Smart Devices) โดยไม่ต้องมาแสดงตัว ณ จุดให้บริการแบบในปัจจุบันที่เรียกกันในวงการว่า eKYC/CDD แบบ non Face2Face จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย (Legal Requirement) และเงื่อนไขทางธุรกิจ (Biz Requirement)
(2) การใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาสนับสนุนในกระบวนการทำงานของธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transaction) เพื่อลดต้นทุนในแทบทุกมิติ เช่น เร็วกว่า ง่ายกว่า ประหยัดกว่า สะดวกกว่า แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเทคนิคในปัจจุบัน เรียกว่าบริการทางการเงินในภาพรวมจากฝั่งของลูกค้านั้น Sexy กว่าการใช้บริการในแบบเดิมๆ
(3) การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และการเปิดข้อมูลที่เก็บอยู่ของภาครัฐ (Government Opened data) มิติที่มีการพูดคุยกันมากๆ ก็คือ 3.1 เรามีแหล่งข้อมูลระดับ Big data อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร คุณภาพประมาณไหน สะท้อนพฤติกรรม ของกลุ่มตัวอย่างอย่างครบถ้วน มี ความยากง่ายในการนำเอามาขึ้นระบบเพื่อการวิเคราะห์ประมาณไหน กล่าวกันในภาพรวมคือ Big data นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย พร้อมใช้งาน
3.2 แหล่งข้อมูลที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้งานโดยผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ถูกจัดเก็บในภาครัฐ จะถูกนำออกมาเปิดเผยได้อย่างไร มีต้นทุนที่ถูกมากพอ สามารถอ่านข้อมูลนั้นได้ง่ายด้วยคอมพิวเตอร์ มีจำนวนมากพอ มีความสม่ำเสมอในการเผยแพร่ และที่สำคัญมีกฎหมายรองรับการนำไปใช้งาน เช่น หน่วยงานรัฐหนึ่งออกกติกาว่า การมาแสดงตัวตนของลูกค้าเพื่อขอใช้บริการต้องยืนยันตัวตนบนข้อมูลบัตรประชาชน แต่การที่เอกชนจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องไปเอาข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอีกแห่งหนึ่งมาขึ้นระบบเพื่อเป็นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาทำการสอบทานยืนยัน ถ้าหน่วยงานที่สองไม่มีการทำ Opened Data ธุรกรรมนั้นก็จบข่าว ทำต่อไม่ได้
(4) เรื่องความมั่นคงปลอดภัยในระบบข้อมูลสารสนเทศหรือที่เราๆ ท่านๆ พูดกันคือ Cyber Security เพราะเหตุว่า การทำธุรกรรมแทบทุกอย่างอย่างที่อยากได้ไม่ว่า Digital Banking หรือ Financial Service 4.0 ต่างมีความเสี่ยงในเรื่องที่จะมีผู้บุกรุก คนที่เก่งเทคโนโลยีเข้ามาทำการขโมย บิดเบือนข้อมูล ลบข้อมูล เปลี่ยนแปลงข้อมูล ทำลายข้อมูลทั้งหมดหรือบางส่วน การป้องกันคนสุจริตจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จำต้องมีชุดความรู้อีกชุดหนึ่ง มากำกับดูแล บริหารจัดการ คำถามคือระบบที่เรากำลังจะพัฒนาไปนั้น มีผู้คนมากพอ มีความรู้มากพอ มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ความมั่นคงปลอดภัยในระบบจึงจะเกิดขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้ทุกฝ่ายคือ ผู้ให้บริการทางการเงิน ผู้กำกับดูแล ทางการ สังคม และ ผู้ใช้บริการทางการเงินมั่นใจ
มาถึงตรงนี้นะครับผมพบว่า บทเรียนในการพัฒนา ระบบนิเวศระบบการเงิน ต้องเข้าใจทุกฝ่าย เข้าถึงความรู้จริง แล้วพัฒนาบนพื้นฐานความรู้ ความรู้จริง ความรู้สึก ความเข้าใจว่า “ใดๆ ในโลกล้วนข้อมูล” ดังที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของ TDRI